สุดเจ๋ง! เกษตรกร อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี โชว์ทอดไข่จากก๊าซชีวภาพผลิตจากมูลวัวนม ไม่อันตราย ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าครึ่ง พร้อมเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการอนุรักษ์พลังงาน..
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 21 มิ.ย.60 ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจาก นายอดุลย์ นิมิตนิวัฒน์ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ว่ามีเกษตรกรในพื้นที่ ต.ดอนกระเบื้อง สามารถผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลวัวนมได้ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายก๊าซหุงต้มได้กว่าครึ่ง และยังเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบในการอนุรักษ์พลังงาน ไปตรวจสอบพบกับ นางชูศรี พลับพลา อายุ 55 ปี เกษตรกรเลี้ยงวัวนม พาไปชมบ่อก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากมูลวัวนม เป็นแบบพลาสติกพีวีซี ขนาดความจุ 4 ลูกบาศก์เมตร ฝังดินต่อท่อพีอีเข้าเตาแก๊ส ซึ่งเจ้าของบ้านสาธิตการทอดไข่เจียวด้วยก๊าซชีวภาพให้ชมอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ อ.บ้านโป่ง มีเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเนื้อและวัวนมจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะนำมูลวัวมาตากแดดขายเป็นปุ๋ยคอก ทางอำเภอต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มจากมูลวัว ด้วยวิธีการนำมาเข้ากระบวนการหมักก๊าซชีวภาพ ใช้แทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน โดยคัดเลือกเกษตรกรตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบในการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 5 แห่ง คือ ต.ดอนกระเบื้อง 2 แห่ง สวนกล้วย 2 แห่ง และหนองอ้อ 1 แห่ง
...
นางชูศรี เผยว่า ตนเลี้ยงวัวนมจำนวน 50 ตัว ส่งน้ำนมดิบขายให้กับสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี (ในพระบรมราชูปถัมภ์) จำกัด แต่ละวันจะนำมูลวัวมาตากขาย จนกระทั่งได้ไปศึกษาเรียนรู้การผลิตก๊าซชีวภาพและได้รับคัดเลือกเป็นศูนย์เรียนรู้ จึงเริ่มมาทำบ่อก๊าซชีวภาพที่บ้านสามารถนำก๊าซมาใช้แทนก๊าซหุงต้มได้นาน 2 ชั่วโมง ต่อ 1 วัน และมีความปลอดภัยด้วย
รวมทั้ง ที่บ้านอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ทำอาหารกินกันเอง มีค่าใช้จ่ายก๊าซหุงต้มแอลพีจี เดือนละประมาณ 1,000 บาท แต่หลังจากเปลี่ยนมาใช้ก๊าซชีวภาพแทน สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่าครึ่ง ส่วนกากมูลวัวที่เหลือหลังการหมัก ก็จะเก็บไปตากแห้งนำไปจำหน่ายเป็นปุ๋ยได้ต่อไป.