ชาวประมงพื้นบ้านเกาะช้าง เผยปริมาณ “เคย” ในทะเลลดน้อยลง คาดอาจเพราะมีน้ำเสียไหลลงทะเล วอนเจ้าของสถานประกอบการตามแนวชายหาด อย่าปล่อยน้ำเสียลงทะเล หวั่นเคยสูญพันธุ์ไม่มีให้ทำเป็นกะปิเลื่องชื่อ กระทบวิถีชีวิตดั้งเดิมชาวบ้าน...
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 60 นายกุมาร มีลาภ อายุ 45 ปี ชาวประมงพื้นบ้านคลองสน ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด เปิดเผยว่า ตามธรรมชาติของ “เคย” จะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามแนวชายหาด เป็นแพลงก์ตอนที่มีขนาดเล็ก เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง รูปร่างคล้ายกุ้ง แต่ไม่ใช่กุ้ง มักจะแหวกว่ายอยู่หน้าผิวน้ำ โดยส่วนใหญ่ไม่จมลงไปใต้ทะเล ในระดับน้ำลึกประมาณ 1-2 เมตร ซึ่งจะพบมากในช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค.ของทุกปี
ซึ่งชาวบ้านจะนำเรือประมงขนาดเล็กที่ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับจับเคย เพื่อขายสดๆ และนำมาแปรรูปผลิตเป็นกะปิ ซึ่งเป็นวิถีชุมชนมาช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษ สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านเกาะช้าง และในปัจจุบัน กะปิเกาะช้าง ยังเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงในเรื่องของคุณภาพ นักท่องเที่ยวนิยมซื้อเป็นของฝาก
นายกุมาร กล่าวว่า ตามธรรมชาติของเคย จะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ในช่วงฤดูกาลจะพบเห็นตามแนวชายหาดหลายแห่งของเกาะช้าง ไม่มีแหล่งอาศัยเป็นหลัก ออกหากินเป็นฝูงใกล้แนวชายฝั่ง ห่างจากฝั่งประมาณ 2-3 กิโลเมตร เป็นสัตว์น้ำที่ชอบลอยตัวขึ้นมาบนผิวน้ำ
...
โดยชาวประมงพื้นบ้าน ที่มีอาชีพจับเคยมาทำเป็นกะปิ จะมองเห็นฝูงเคยได้ด้วยตาเปล่าในระยะไกลจากบนเรือ และในบางครั้งก็จะว่ายหากินอาหารบริเวณหน้าพื้นทราย แต่ก็สามารถมองเห็นได้ง่าย เพราะสภาพน้ำทะเลที่ใสสำหรับชาวบ้านเกาะช้างนั้น มองว่าเคยเป็นสัตว์เศรษฐกิจซึ่งหาได้จากธรรมชาติ ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ และยังใช้ตัวเคยมาทำกะปิได้
ทั้งนี้ ชาวประมงพื้นบ้านเกาะช้างที่มีอาชีพจับ เคย มาแปรรูปผลิตเป็นกะปิ ได้ให้ข้อมูลต่อผู้สื่อข่าวคล้ายๆ กันว่า จากการที่ได้นำเรือออกจับเคย เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา จะพบว่าปริมาณเคยในทะเลมีปริมาณลดน้อยลงไปมาก เมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะได้มีน้ำเสียไหลลงทะเลตามแนวชายหาดเป็นประจำ โดยการที่ฝูงเคย จะมาอาศัยอยู่ตามแนวชายหาดจำนวนมากนั้น บ่งชี้ถึงความสะอาดของน้ำทะเล ความสมบูรณ์ของธรรมชาติในย่านนั้นๆ เพราะเคยไม่สามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่สกปรกได้
“อย่างไรก็ตาม วอนผ่านสื่อไปยังเจ้าของสถานประกอบการตามแนวชายหาดทั้งหลาย อย่าได้ปล่อยน้ำเสียลงทะเล นอกจากจะเกิดภาพลบต่อการท่องเที่ยวแล้ว ยังส่งผลให้ เคย ที่มีตามธรรมชาติ ใช้ในการผลิตกะปินั้น อาจจะหมดไปจากทะเลในไม่ช้านี้ เป็นการกระทบวิถีชุมชนดั้งเดิมที่มีมาช้านานอีกด้วย.”