ลุงกับป้าชาวสวนเงาะที่จันทบุรี ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านกับสวน เก็บเศษสิ่งกิ่งไม้มาเผาถ่านขาย เป็นถ่านไม้เงาะที่ให้ไฟแรง ลุกนาน สร้างเตาดินเหนียวเผากันทั้งปียังไม่พอกับความต้องการ แถมยังได้น้ำส้มควันไม้ สร้างรายได้เดือนละกว่า 1 หมื่น...
วันที่ 2 พ.ค. 60 ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี เดินทางไปที่บ้านเลขที่ 48/1 ม.3 ต.อ่างคีรี อ.มะขาม จ.จันทบุรี พบนายรัศมี สิงขรณ์ อายุ 61 ปี พร้อมภรรยาและหลานชายกำลังช่วยกันขนถ่านไม้ที่เพิ่งถูกเผาเสร็จ ออกจากเตาถ่านที่สร้างจากอิฐแดง และดินเหนียวทรงหลังเต่า ก่อนนำออกมาวางผึ่งลม รอทำให้ก้อนถ่านมีขนาดเล็กลงขนาดเท่ากับข้อมือ ก่อนบรรจุลงในกระสอบปุ๋ยเตรียมส่งขายให้กับลูกค้า ส่วนเศษถ่านซึ่งเป็นเปลือกไม้ขนาดเล็ก คัดใส่อีกกระสอบแยกต่างหาก เพื่อนำเก็บไว้ในครัวเรือน และยังสามารถนำมาใช้เป็นที่ดับกลิ่นอับ กลิ่นคาว ในตู้เย็นและตู้เสื้อผ้าได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
นายรัศมี สิงขรณ์ มีอาชีพทำสวนผลไม้ และสวนยางพารามาร่วม 50 ปี บอกว่า ปัจจุบันมีเนื้อที่สวนผลไม้และสวนยางพาราในความดูแลกว่า 80 ไร่ ในแต่ละปีการดูแลต้นไม้ผล โดยเฉพาะ เงาะ ที่ปลูกไว้กว่า 50 ต้น ได้สลัดกิ่งแห้ง ตกกระจายทั่วสวน อีกทั้งกิ่งขนาดใหญ่ที่ถูกตัดแต่งออกก่อนที่เงาะจะเริ่มออกดอก ทำให้ในสวนจะมีเศษกิ่งเงาะไร้ประโยชน์กองเต็มสวน จึงมีความคิดที่จะหาวิธีที่สร้างประโยชน์ได้ มากกว่าการนำไปกองรวมแล้วเผาทิ้ง จึงได้นำเอาวิถีชีวิตดั้งเดิมที่ปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเยาว์ สร้างเตาเผาถ่านขึ้นมาจากเศษก้อนอิฐแดงและดินเหนียวที่หาได้ในสวน แล้วเก็บเศษกิ่งไม้เงาะและไม้เนื้อแข็งมาเผาถ่านเก็บไว้ใช้เอง ต่อมามีเพื่อนบ้านมาขอซื้อถ่านกลับไปใช้ และมีการบอกปากต่อปาก ว่าถ่านไม้เงาะที่เผาเองนี้ มีประสิทธิภาพด้านเชื้อไฟที่ร้อนเร็วและอยู่นาน ทำให้มีบรรดาร้านค้า ร้านอาหาร เข้ามาติดต่อสั่งจองเป็นจำนวนมาก
...
ลุงรัศมี กล่าวด้วยว่า นอกจากเศษไม้เงาะในสวนตัวเองที่นำมาเผาถ่านแล้ว ยังได้นำเอาไม้เนื้อแข็งที่หาได้จากรอบสวนยางพารา และที่ไปรับซื้อจากชาวสวนข้างเคียง นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเผาถ่าน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยการเผาถ่านแต่ละครั้ง 1 เตาจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ก็เก็บถ่านขายได้
"1 เตา สามารถผลิตถ่านไม้ได้ 6-7 กระสอบ โดยถ่านไม้ที่ผลิตมีราคาขายอยู่ที่กระสอบละ 200 บาท มีลูกค้าประจำมารับซื้อถึงที่ ทำให้แต่ละเดือนจะมีรายได้เสริมที่ได้จากการเผาถ่าน เดือนละประมาณ 14,000 บาท นอกจากนี้ การเผาถ่านแต่ละครั้ง ยังได้ดัดแปลงนำท่อพีวีซีมาติดตั้งที่ปล่องไฟของเตาถ่าน เพื่อกลั่นเอาน้ำส้มควันไฟ ซึ่งสามารถนำมาผสมน้ำ ใช้ฉีดพ่นกันแมลงในสวนผลไม้ แทนการใช้สารเคมีได้อีกทางหนึ่งด้วย" นายรัศมี กล่าว.