ชาวบ้านตำบลน้ำพุ จ.ราชบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด เดินทางมาที่ศาลแพ่ง (รัชดา) ฟ้องร้องเรียกค่าถูกละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเงิน 500 ล้าน...
ภายหลัง ‘ไทยรัฐ’ ได้นำเสนอข่าวชาวบ้านหมู่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดิน จาก โรงงานกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ที่มีเรื่องร้องเรียนกันมากว่า10 ปี แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จนปัจจุบันสารพิษได้แพร่กระจายลงไปสู่ระบบน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน(ลำห้วยน้ำพุ) ชาวบ้านได้รับผลกระทบแล้ว 3 หมู่บ้าน กรมวิชาการเกษตรแจ้งยกเลิก มาตรฐานการรับรองสินค้าเกษตร(GAP) พร้อมสั่งระงับห้ามใช้น้ำในลำห้วย ซึ่งล่าสุดมีหนังสือลงวันที่ 10 มี.ค.60 จากสำนักราชเลขาธิการ สวนจิตรลดา ตามที่ชาวบ้านได้มีหนังสือกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานความช่วยเหลือ ขณะที่ทางจังหวัดได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วและมีหนังสือแจ้งถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อยุติการแพร่กระจายของมลพิษและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยเร็ว
ล่าสุด วันที่ 11 เม.ย.60 นายธนู งามยิงยวด ประธานกลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ พร้อมชาวบ้าน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ทีมทนายความ โดยว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม (LEPA) ได้ยืนคำร้องฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมต่อศาลแพ่ง เป็นคดีแบบกลุ่ม โดยยื่นฟ้อง บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 และกรรมการบริษัท เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิด ละเมิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535
ทั้งนี้ ฟ้องระบุว่า "เนื่องจากโจทก์ทั้ง 3 และชาวบ้านในหมู่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมือง ประกอบอาชีพ ทำสวนลำไย มะม่วง มะละกอ มันสำปะหลัง และปลูกพืชผัก ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติห้วยน้ำพุ เพื่อทำการเกษตร และได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงานของจำเลยทั้งสองซึ่งประกอบกิจการเป็นโรงงาน 9 แห่งในพื้นที่เดียวกัน โดยเป็นโรงงานประเภทรีไซเคิลฯและวัสดุเหลือใช้ จนก่อให้เกิดการรั่วไหลแพร่กระจายของสารเคมี ส่งกลิ่นเหม็นไปทางอากาศและเกิดการรั่วไหลของสารพิษแพร่กระจายโลหะหนักไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ทำให้เกิดการเจ็บป่วยจากกลิ่นเหม็น คันตามผิวหนัง ร่างกายเมื่อมีการสัมผัสน้ำ หากเข้าตาก็มีอาการเป็นตาแดง และยังทำให้พืชผลเสียหายขายไม่ได้ราคา ถูกตัดออกจากมาตรฐานการรับรองสินค้าเกษตร(GAP)กรมวิชาการเกษตร"
...
โดยโจทก์ที่ 1 เรียกค่าเสียหาย 18,717,000 บาท โจทก์ที่ 2 เรียกค่าเสียหาย6,572,000 บาท และโจทก์ที่ 3 เรียกค่าเสียหาย1,112,000บาท โจทก์ทั้ง 3 ขอฟ้องร้องคดีเรียกค่าเสียหาย รวมเป็นเงิน 26,401,000 บาทและเรียกค่าเสียหายแทนชาวบ้าน หมู่ที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มและได้รับความเสียหายแบบเดียวกับโจทก์ทั้ง 3 คน รวมเป็นเงิน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเสียหาย ดังนี้ 1. ค่ารักษาพยาบาลจากอาการเจ็บป่วยจากการสูดดมกลิ่นเหม็นของศาลเคมี 2. ค่าเสื่อมสุขภาพร่างกายอนามัย 3. ค่าทรัพย์สินเสียหาย สวนลำไย ผลผลิตลำไยขายไม่ได้ 4. ค่าขาดประโยชน์จากการใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ 5. ค่าถูกละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของโรงงานฯได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ตั้งแต่ พ.ศ.2544 แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้.