เส้นทางกรุงเทพ-ตราด-เกาะกง นับเป็นอีกเส้นทางหนึ่งมีผู้นิยมเดินทางท่องเที่ยว ใช้เวลาไม่มากนัก อาจจะ 2วัน 3 คืน รายทางมีที่ให้แวะพักมากมาย และหลากหลาย แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคน...

อพท. หรือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง มองเห็นถึงความสำคัญทั้งการท่องเที่ยวและการพัฒนาในเส้นทางนี้ นำผู้ประกอบท่องเที่ยวเดินทางไปดูพื้นที่ สัมผัสผู้คน สังคม วัฒนธรรม ทั้งฝั่งจ.ตราด และเกาะกงของกัมพูชา

นายสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ได้กล่าวในภาพรวมว่า

"สำหรับเส้นทางนี้ นักท่องเที่ยวสามารถแวะพักระหว่างทาง ซึ่งเป็นชุมชนในความดูแลและพัฒนาของพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างฯ ชุมชนจะได้ประโยชน์จากการแวะเยือนของนักท่องเที่ยว ในส่วนของจ.เกาะกงนั้น จะส่งเสริมให้เกิดการเดินทางของประชาชและนักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ ซึ่งอพท.มั่นใจการเดินทางของนักท่องเที่ยว จะช่วยให้เกิดการจับจ่ายและกระจายรายได้ ทั้งในส่วนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก โรงแรม ตลอดจนการค้าชายแดน"

ล้อหมุน...คณะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้า ถึงตัวเมืองตราดหลังเที่ยงเล็กน้อยแวะเติมพลังด้วยอาหารสเด็ดของจ.ตราด และภาคตะวันออก "แกงหมูชะมวง" ที่ร้านดัง "ภัตตาคารแสงฟ้า" ก่อนมุ่งสู่ "แหลมกลัด"ที่มีธนาคารปูม้าเป็นส่วนกลางของชุมชนแห่งแรกๆ นำแม่ปูที่จับได้และมีไข่นอกกระดองมาอนุบาล รอให้สลัดไข่ จากนั้น นำลูกปูปล่อยกลับลงทะเลเพื่อพิ่มจำนวนปูในธรรมชติ จนชาวประมงแถบนี้จับ “ปูม้า”ได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

...

ออกสัญจร มุ่งสู่ตะวันออก ไปที่หาดราชการุณย์ ติดทางหลวงสาย318 ตราด-คลองใหญ่ สถานที่ประวัติศาสตร์สมัยสงครามเขมรแดง เมื่อปี 2522 มีผู้อพยพขาวเขมรนับแสนคนหนีข้ามเทือกเขาบรรทัด ความทราบถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาด้วยพระองค์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับผู้อพยพชาวกัมพูชาทั้งหมดไว้ดูแล ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนา อยู่ในความดูแลของสภากาชาดไทย

หมุดหมายต่อไปคือ ตลาดชายแดนบ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ตลาดการค้าชายแดน ไม่เล็กไม่ใหญ่พอดีๆมีสินค้าราคาย่อมเยาว์ จากทั้งฝั่งกัมพูชาและไทยวางขาย แล้วแต่ว่าใครจะชอบใจจะช็อปอะไร เพื่อนร่วมคณะตรงดิ่งไปหาปูทะเลที่พ่อค้าใส่ถังวางขาย รับออเดอร์แล้วใส่ถุง ใส่กล่องให้อย่างดี มองภายนอกไม่มีทางรู้ข้างในคือ “ปู” ทราบว่าถูกจับมาโดยชาวประมง “บางคายัค” อภิมหาป่าชายเลน ดงโกงกาง หรือ mangrove เนื้อที่กว่าสองหมื่นห้าพันไร่ ของจ.เกาะกง กัมพูชา อีกหนึ่งไฮไลต์ที่เราจะไปเยือน

จากนั้นคณะสำรวจเส้นทางกรุงเทพ-ตราด-เกาะกง ข้ามแดนเข้าสู่กัมพูชา รถวิ่งแม่น้ำสตึงงัมอันกว้างใหญ่ เข้าสู่ตัวจังหวัดเกาะกง ออกไปตามถนนสาย R10เส้นทางยุทธศาสตร์การค้าผ่านเมืองชายฝั่งของกัมพูชา ไปออกจ.เกียนยาง ปลายแหลมของเวียดนาม

ตามเส้นทางมีจุดแวะพักไม่มากนัก บางแห่งเป็นร้านค้าริมทางของชาวเกาะกง ซึ่งแม่ค้าที่นำสินค้ามาวางขาย ส่วนหนึ่งเป็นชาวไทยเกาะกง พูดไทยสำเนียงตราด สื่อสารกันได้และให้ความรู้สึกเหมือนอยู่เมืองไทย กับข้าวร้านข้าวแกงก็ล้วนแต่เป็นอาหารไทย แกงเผ็ด ต้มพะโล้ของกินของใช้เบ็ดเตล็ด ร้อยทั้งร้อยเป็นแบรนด์ไทย

...

ไฮไลต์อีกอย่างของการท่องเที่ยวเกาะกง คือ เกาะจ้าวหรือคีรีสาคร เกาะในทะลติดชายฝั่งเป็นที่อาศัยทำกินของชาวประมง เพียงข้ามเรือติดเครื่องท้าย ที่ชาวเขมรยกให้เป็น “สปีดโบ๊ต”เพียงแค่10นาที ก็จะได้สัมผัสกลิ่นอายของหมู่บ้านประมงแบบเขมรๆ ที่มีวัฒนธรรมผสมผสานไทย จีน เขมร เวียดนาม เป็นสีสันดึงดูดใจผู้มาเยือน

จากนั้นเดินทางต่อมาที่“บางคายัค”ป่าชายเลนใหญ่สุดในเอเชีย พื้นที่25,000ไร่ ได้รับขนานนามจากนักท่องเที่ยวว่าเป็นพาราไดซ์ สวรรค์บนดินที่ยังคงอุดมสมบูรณ์ทั้งธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวประมง ที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ น้ำขึ้นน้ำลง ป่าโกงกาง ปู ปลา สัตว์น้ำ ฯลฯ ที่สำคัญคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นคนไทย พูดภาษาไทย มีรอยยิ้มแบบไทยๆ

...

ทริปนี้ พวกเราไปปิดท้ายกันที่วัดปากคลอง วัดสำคัญของจ.เกาะกง กราบนมัสการพระเดชกุล พระครูธีอำพล ปิยธัมโม เจ้าอาวาสที่เป็นที่ปรึกษาสมเด็จสงฆ์ฯ นายกแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ฟังประวัติพิสดารของ "ก๋งหมึก" เจ้าอาวาสองค์แรก ที่สู้กับเขมรแดง ท้าให้ทหารยิงใส่ตอไม้ที่ท่านปัสสาวะใส่ ปรากฏว่ายิงอย่างไร ลูกปืนก็ไม่แตก

รับเครื่องลางของขลังวัตถุมงคลติดตัวกลับมา อิ่มเอมใจในธรรรมะกันทั้งคณะแล้ว จึงเดินทางกลับเข้าฝั่งไทย แวะรับประทานอาหารเที่ยง ที่ทะเลภูรีสอร์ต “เจ๊เปา” เจ้าของผู้ใจดี จัดสำรับเมนูคาวหวานส่งท้ายแบบชุดใหญ่ไฟกระพริบ นอนหลับงีบใหญ่ ก็เดินทางกลับถึงกทม.โดยสวัสดิภาพ...

...