เครดิตภาพจาก :หลักสูตรชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
ม.มหิดล แนะนำ ปชช.ช่วงฤดูฝน อย่าเข้าใจผิด! แมลงหางดีดที่ดีดตัวได้คล้ายกับตัวหมัด เข้ามาอยู่รอบๆ บริเวณบ้านเรือน ซึ่งไม่มีอันตราย อย่าไปทำร้าย มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศในดินอย่างมาก...
จากการที่ประชาชนในตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ได้พบแมลงชนิดหนึ่ง ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่ามีลักษณะคล้ายหมัดเป็นจำนวนหลายหมื่นตัวไต่ขึ้นมาบนพื้นดินและบริเวณรอบบ้าน จึงนำสารกำจัดแมลงมาฉีดพ่น ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ด.ต.เชาวน์นนท์ ครุฑฉ่ำ ปฏิบัติงานอยู่ที่กองร้อย ตชด.136 ได้นำตัวอย่างแมลงดังกล่าวมาที่ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เพื่อทำการตรวจสอบว่าเป็นแมลงชนิดใด
ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 59 อาจารย์ไพพรรณ แพเจริญ พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.เสน่ห์ จิตต์กลาง อาจารย์ประจำหลักสูตรชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี นำแมลงดังกล่าวมาศึกษาโดยผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบสเตริโอ พบว่า เป็นแมลงกลุ่มที่มีชื่อว่า แมลงหางดีด (Springtail) ซึ่งเป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก และสามารถดีดตัวให้ลอยจากพื้นดินได้ ขนาดลำตัวยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 10 มิลลิเมตร ไม่มีปีก มีหนวด 1 คู่เห็นเด่นชัด ส่วนปากหลุบอยู่ด้านใต้หัว เมื่อถูกรบกวนแมลงหางดีดจะดีดตัวเองขึ้นสู่อากาศโดยใช้อวัยวะสำหรับดีดสามารถพับงอไว้ใต้ลำตัว เรียกว่า furcula แมลงหางดีดมีหลากสี เช่น สีขาว เทา เหลือง ส้ม ม่วง แดง หรือสีอื่นๆ อาจเป็นสีเดี่ยวๆ หรือเป็นแต้มเป็นลายก็ได้ มีการเจริญเติบโตแบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (ametamorphosis)
...
สำหรับแมลงหางดีดเป็นแมลงที่พบได้ทั่วไป อาจพบเป็นกลุ่มจำนวนมากๆ โดยส่วนใหญ่ที่พบมักอาศัยในบริเวณที่มีความชื้น เช่น ดินหรือสภาพพื้นที่ที่มีใบไม้หมักหมมมีเชื้อรา ใต้เปลือกไม้ ตามผิวน้ำ ชายฝั่งทะเล หรือบางทีก็เจอตามที่เพาะปลูก ส่วนใหญ่พวกแมลงหางดีดที่อาศัยตามดินจะหากินอยู่กับซากพืช หากินอยู่กับมูลสัตว์ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ ทำให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศในดินอย่างมาก โดยตัวเต็มวัยมีอายุได้สูงสุดถึงหนึ่งปี
ด้าน อาจารย์ไพพรรณ และอาจารย์ ดร.เสน่ห์ เปิดเผยว่า หากประชาชนพบเห็นแมลงหางดีดเข้ามาใกล้บ้านเรือน ซึ่งแมลงดังกล่าวไม่มีอันตราย แต่ที่เข้ามาถึงใกล้กับบ้านเรือนประชาชน อาจเพราะเริ่มฤดูฝน แล้วมีการผสมพันธุ์ จึงเดินตามพื้นที่ที่มีความอับชื้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และก็จะออกไปอยู่ในที่เดิมของมันเอง แต่คงจะไม่เข้าไปรบกวนถึงข้างในบ้านเรือน ซึ่งประชาชนที่พบเห็นส่วนมากอาจเข้าใจผิดว่าเป็นแมลงจำพวกหมัด เพราะมีการกระโดดคล้ายหมัด จึงมีการนำสารเคมีมาฉีดพ่น.