จากสภาพอากาศแห้งแล้ง ประกอบกับน้ำทะเลหนุน ทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับผลกระทบอย่างหนัก บางรายต้องปล่อยให้ข้าวยืนต้นตายเพราะไม่มีน้ำสูบเข้านา เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 3 มี.ค. นายสมมาตร อุดมศิลป์ อายุ 55 ปี ชาวนาหมู่ 7 ต.หนองจอก อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ปีนี้ได้ปลูกข้าว 59 ไร่ ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงกลางเดือน มี.ค. แต่เนื่องจากน้ำเค็มได้เอ่อหนุนเข้ามาในคลอง น้ำเค็มที่สูบเข้านาทำให้ต้นข้าวมีรากดำ ข้าวที่ตั้งท้องอยู่เป็นหัวหงอกเมล็ดข้าวลีบ จึงต้องตัดสินใจเร่งเก็บเกี่ยวก่อนจะเสียหายทั้งหมด ขณะที่น้ำในคลองเองก็แห้งขอดอย่างหนัก มีพื้นที่นาข้าวอีกหลายร้อยไร่ บางส่วนต้องปล่อยให้ข้าวยืนต้นตาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ พร้อมทำใจยอมรับภาระหนี้สินที่ไปกู้ยืมมาทำนา
จ.ปราจีนบุรี นายอุกริช พึ่งโสภา ผวจ.ปราจีนบุรี ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร นพ.จรัญ บุญฤทธิการ ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร นายสุรพล เขม้นนามัด ผอ.โครงการชลประทานปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมวางแผนจัดการเรื่องน้ำในสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เนื่องจากปัจจุบัน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรประสบปัญหาขาดแคลนน้ำซึ่งอาศัยแหล่งน้ำดิบจากแม่น้ำปราจีนบุรีใช้ผลิตน้ำประปา ช่วงฤดูแล้งจะมีน้ำเค็มหนุนซึ่งส่งผลกระทบกับผู้ป่วย โดยเฉพาะห้องไตเทียม ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. ขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ฟอกไต ซึ่งมีผู้ป่วยฟอกไตวันละ 15-20 ราย ใช้น้ำ 8,000-10,000 ลิตรต่อวัน
ขณะนี้ทาง รพ.ได้ขอน้ำจากทหารกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ มณฑลทหารบกที่ 12 และ อบจ.ปราจีนบุรี ทั้งยังขอรับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำรถบรรทุกน้ำ เครื่องกรองน้ำระบบ OR เคลื่อนที่ และทีมสำรวจขุดเจาะหาน้ำบาดาล สนับสนุนขอรถบรรทุกน้ำขนาด 12,000 ลิตร จาก อบจ.ปราจีนบุรี อบต.ทุกแห่ง และบริษัท เนสเล่ย์ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนน้ำประปามาส่งให้วันละ 30,000 ลิตร คาดว่าเพียงพอต่อสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้
...
น.ส.ปราณีต โชติกนกรัตน์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียม เปิดเผยว่า เนื่องจากห้องฟอกไตต้องการใช้น้ำคุณภาพดี สำหรับใช้ฟอกเลือด ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ไม่สามารถนำน้ำดิบมาผลิตเป็นน้ำบริสุทธิ์ แต่ละวันจะมีผู้ป่วย 18-20 คน เฉลี่ยใช้น้ำวันละ 8,000-10,000 ลิตร โดยใช้ฟอกเลือดและกระบวนการล้างเครื่องกรองน้ำให้สะอาดเพื่อมาผลิตน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ ส่วน รพ.บ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง ที่ได้รับผลกระทบสูง เนื่องจากน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีมีความเค็มมาก ต้องซื้อน้ำถังมาใช้ในการล้างเครื่องมือแพทย์ เช่นเดียวกับ รพ.อื่นๆที่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
จ.ลพบุรี นายรังสรรค์ ตันเจริญ รอง ผวจ.ลพบุรี เป็นประธานปิดโครงการ พัฒนาอาชีพเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก และเพิ่มรายได้ช่วงฤดูแล้ง ที่วัดธรรมเจดีย์ ต.งิ้วราย อ.เมืองลพบุรี ซึ่งนายสัตวแพทย์จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ได้จัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง มีการคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้ง 10 อำเภอ จำนวน 9,119 ราย แบ่งกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการสนับสนุนการเลี้ยงไก่พื้นเมืองจำนวน 772 ราย ไก่ลูกผสมพื้นเมือง 355 ราย ไก่ 39 ราย เป็ดเทศ 241 ราย เป็ดไข่ 992 ราย และไก่ไข่ 6,720 ราย เปิดดำเนินการตั้งแต่บัดนี้จนถึงเดือน เม.ย.นี้ นอกจากนี้พาณิชย์จังหวัดลพบุรี ได้จัดหาตลาดเพื่อเกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายได้อีกด้วย.