ภัยแล้งที่ปราจีนบุรี ส่งผลกระทบต่อ ‘ห้องไตเทียม’ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เนื่องจากน้ำเค็มรุกเข้ามาในแม่น้ำ ทำให้น้ำประปาไม่สามารถใช้ฟอกเลือดผู้ป่วย และล้างเครื่องมือได้ ต้องขอสนับสนุนน้ำสะอาดจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน...
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 59 ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อ.เมืองปราจีนบุรี นายอุกริช พึ่งโสภา ผวจ.ปราจีนบุรี ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร นายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นายสุรพล เขม้นนามัด ผู้อำนวยการโครงการชลประทานปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมวางแผนจัดการเรื่องน้ำในสถานการณ์ภัยแล้ง ที่กำลังเริ่มมีความรุนแรง และขยายวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ประสบปัญหาเรื่องของน้ำที่ใช้สำหรับโรงพยาบาล เป็นปัญหาใหญ่ของทุกปี ช่วงฤดูแล้งทางโรงพยาบาลได้อาศัยแหล่งน้ำดิบจากแม่น้ำปราจีนบุรีมาใช้ผลิตน้ำประปาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ช่วงฤดูแล้งจะมีน้ำเค็มหนุนจนส่งผลกระทบกับผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้องไตเทียม ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา เริ่มมีการขาดแคลนน้ำสำหรับมาใช้ในการฟอกไต
สำหรับผู้ป่วยฟอกไตวันละประมาณ 15-20 ราย ต้องใช้น้ำประมาณ 8,000-10,000 ลิตรต่อวัน ขณะนี้ได้ขอน้ำจากทหาร กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และมณฑลทหารบกที่ 12 และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี มาสนับสนุนในช่วงขาดแคลน และเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้น้ำ ทางโรงพยาบาลได้ขอรับการสนับสนุน จากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำรถบรรทุกน้ำ เครื่องกรองน้ำระบบ OR แบบเคลื่อนที่ และทีมสำรวจขุดเจาะหาน้ำบาดาล รวมทั้งยังได้ขอสนับสนุนรถบรรทุกน้ำขนาด 12,000 ลิตร จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ค่ายพรหมโยธี องค์การบริหารส่วนตำบลฯ ทุกแห่ง และบริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนน้ำประปามาส่งให้วันละ 30,000 ลิตร คาดว่าน่าจะเพียงพอต่อสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้
...
นางสาวปราณีต โชติกนกรัตน์ พยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียม กล่าวว่า เนื่องจากห้องฟอกไต ต้องการใช้น้ำคุณภาพดีเพื่อมาผลิตเป็นน้ำบริสุทธิ์สำหรับใช้ฟอกเลือด ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 59 เป็นต้นมาค่าน้ำดิบจะสูง จนไม่สามารถมาผลิตเป็นน้ำบริสุทธิ์ ซึ่งในแต่ละวันจะมีผู้ป่วยประมาณ 18-20 คน โดยเฉลี่ยทุกวันใช้น้ำประมาณ 8,000-10,000 ลิตร ใช้ในการฟอกเลือดและกระบวนการล้างเครื่องกรองน้ำให้สะอาดในช่วงกลางคืน เพื่อจะได้มาผลิตน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์
ส่วนโรงพยาบาลอื่นๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลบ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง ที่ได้รับผลกระทบสูงเช่นกัน เนื่องจากน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีมีความเค็มสูง ต้องซื้อน้ำถังมาใช้ในการล้างเครื่องมือแพทย์.