แรงงานชาวพม่ากว่า 100 คน ฮือก่อหวอดประท้วง บริษัทว่าจ้างใน จ.เพชรบุรี อ้างมาเมืองไทยไม่ได้ทำงานตามสัญญาจ้าง ด้าน บริษัทหางานฯ แจงกลุ่มแรงงานยังเข้าไทยไม่ถึงเดือน เผยมีการรับเข้าทำงานแล้วเกือบ 200 คน ส่วน ก.แรงงานพม่า รุดเคลียร์จนสถานการณ์คลี่คลาย...

เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 13 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดเหตุแรงงานต่างด้าวชาวพม่า กว่า 100 คน เดินทางมารวมตัวชุมนุมกันที่ ถนนเลียบคลองชลประทาน ประท้วงเรียกร้องไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยชาวพม่าอ้างว่า ก่อนหน้านี้ได้มีบริษัท รับจัดหางานสาริศา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เดินทางไปยังประเทศพม่า และทำสัญญาข้อตกลงการจ้างงาน กับบริษัทจัดหางานประเทศพม่า ว่าจ้างชาวพม่าจำนวน 224 คนให้เดินทางมาทำงานรับจ้าง เป็นคนงานทั่วไปในบริษัทแคลคอม อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย ) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเลคโทรนิคส์คอมพิวเตอร์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 4 ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี โดยการว่าจ้างดังกล่าวดำเนินการภายใต้ข้อบังคับของกฏหมายและได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงานทั้ง 2 ประเทศ

ต่อมาเมื่อชาวพม่าที่ได้ทำสัญญารับว่าจ้างงาน ได้เดินทางมาที่ประเทศไทย บริษัทจัดหางานไทยได้นำเข้าพักอาศัย และจัดหาอาหารให้รับประทานปกติ แต่ปรากฏว่า เวลาล่วงมานานกว่า 1 เดือนกลับยังไม่นำคนงานทั้งหมดเข้าทำงานตามสัญญาจ้างดังกล่าว และไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้จึงสร้างความไม่พอใจให้กับชาวพม่า สอบถามเจ้าหน้าที่บริษัทจัดหางานทราบว่า กลุ่มชาวพม่าดังกล่าว ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาที่ระบุ ประกอบกับบริษัทแคลคอม มีการชะลอการรับคนงานเพิ่มเติม จึงยังไม่สามารถนำชาวพม่าดังกล่าว ส่งเข้าทำงานได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านที่พัก และอาหาร แต่ชาวพม่ากลับไม่พอใจ ที่ไม่ได้ทำงาน และรวมตัวประท้วงดังกล่าว

...

ด้าน น.ส.สุวรรณิสา แน่งน้อย กรรมการผู้จัดการบริษัท จัดหางาน สาริศาฯ ชี้แจงว่า เรื่องที่ให้แรงงานต้องรอนานนับเดือนนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะแรงงานชุดแรกที่มา 24 คน นั้น ได้เดินทางมาวันที่ 21 ส.ค. ส่วนอีก 200 คน รับเข้ามาจริงจำนวน 195 คน และนำเข้ามาในวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับแรงงานพม่าส่วนใหญ่ ทราบว่า กลุ่มแรงงานไม่พอใจ ตัวนายหน้าจากฝั่งพม่ามากกว่า เนื่องจากบริษัทได้ทำงานในลักษณะเอ็มโอยู จึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง   

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานพม่า ได้เดินทางมารับฟังปัญหา และหาทางแก้ไข โดยใช้เวลาพูดคุยกับแรงงานชาวพม่ากว่า 2 ชั่วโมงเศษ จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะถามความสมัครใจจากชาวพม่าทั้งหมดที่ได้รับว่าจ้างเข้ามาทำงานที่ บ.แคลคอมประเทศไทย หากไม่สมัครใจรอการทำงานก็จะให้บริษัทจัดหางาน  สาริศาฯ ผู้ทำสัญญาส่งตัวกลับประเทศพม่า แต่หากต้องการรอทำงานก็สามารถอยู่ต่อได้ ซึ่งได้รับความพอใจจากกลุ่มผู้ประท้วงชาวพม่า และแยกย้ายกลับที่พัก.