กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรแฉ เหตุลูกเลียงผาพลัดหลงจากฝูงเนื่องจากถูกคนล่า วอนโรงปูนร่วมอนุรักษ์ เนื่องจากอยู่ใกล้ถิ่นอาศัยของเลียงผามากที่สุด เผยขบวนการล่าเลียงผาเอาไปทำน้ำมันเลียงผา ตามความเชื่อช่วยรักษาโรคกระดูก ใส่ขวดขายแค่ 10 บาทเท่านั้น...
จากกรณีชาวบ้านใน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี พบลูกเลียงผาเพศผู้ อายุประมาณ 3-6 เดือน พลัดหลงจากฝูง เดินอยู่ริมถนนใน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา จนมีชาวบ้านนำมาส่งเจ้าหน้าที่สำนักบริหารที่ 1 สระบุรี เพื่อนำไปดูแล เพราะกลัวว่าจะถูกทำร้าย โดยนายเบ็งจะ ตรีสาร หัวหน้าชุดปฏิบัติการด้านสัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สาขาสระบุรี สั่งการเจ้าหน้าที่สร้างกรงให้ลูกเลียงผาเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว โดยนำแม่แพะสัตว์สายพันธุ์เดียวกันมาให้นมเพื่อเป็นการอนุบาลก่อนนำปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ตามที่ "ไทยรัฐออนไลน์" เสนอไปนั้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้ เริ่มเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเบ็งจะ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดูแลลูกเลียงผาตัวนี้เป็นอย่างดี โดยมีทีมสัตวแพทย์ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันนี้ลูกเลียงผากินนมจากแม่แพะได้ และอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี
นายสุรพล ดวงแข กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เลียงผาเป็นสัตว์ป่าสงวนห้ามล่า และเหลือน้อยมากในเมืองไทย เราจึงต้องอนุรักษ์ไว้ สาเหตุที่ลูกเลียงผาตัวนี้พลัดหลงจากฝูงออกมาเดินริมถนน ก็เพราะอาจเกิดจากการถูกไล่ล่า หรือรุกรานถิ่นที่อยู่อาศัย จึงทำให้ต้องหนีภัย มาหาจุดที่ปลอดภัย ยังดีที่มีชาวบ้านไปเจอและนำมาให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ การพบลูกเลียงผา แสดงว่าพื้นที่นั้นจะต้องมีพ่อ แม่เลียงผา และฝูงเลียงผาอาศัยอยู่จำนวนมาก ตนยืนยันว่าการที่ลูกเลียงผาพลัดหลงมา ไม่ใช่เรื่องของการหาแหล่งอาหารอย่างแน่นอน เพราะเลียงผาเป็นสัตว์ที่ปรับตัวอยู่กับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเขาหินปูน ได้เป็นอย่างดี
นายสุรพล กล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ปัญหาการล่าเลียงผานั้น อันดับแรกต้องเริ่มจากการทำชุมชนเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงปูนโรงโม่ที่ดำเนินกิจการอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งอาศัย จะต้องเป็นหลักในการทำหน้าที่อนุรักษ์ และช่วยเป็นหูเป็นตา ในฐานะที่อยู่ใกล้ถิ่นเลียงผามากที่สุด นอกจากนี้ ทางจังหวัดจะต้องส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยทำหน้าที่ประสาน ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ให้คงอยู่สืบไป
"ขบวนการล่าเลียงผามีมานานแล้ว เรื่องนี้เกิดจากความเชื่อว่าหากได้ยาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของเลียงผาไปจะช่วยรักษาโรคได้ ดังนั้น จึงมีคนจำนวนหนึ่งเข้าป่าล่าเลียงผานำมาขาย จึงทำให้ปริมาณเลียงผาลดน้อยลงไปทุกขณะ ในพื้นที่ จ.สระบุรี มีเลียงผาอาศัยอยู่จำนวนหนึ่งและกำลังลดน้อยลงไปทุกขณะ" นายสุรพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเลียงผามีลักษณะคล้ายกวางผา ซึ่งเดิมก็เคยถูกจัดให้อยู่สกุลเดียวกันมา แต่เลียงผามีขนาดใหญ่กว่า มีลักษณะคล้ายแพะ แต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขอยาว ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี ลักษณะของกะโหลกเมื่อเปรียบเทียบกับกวางผาที่มีกะโหลกโค้งเว้าแล้ว เลียงผามีกะโหลกแบน ขนตามลำตัวจะแปรเปลี่ยนไปตามอายุ
สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย และชนิดพันธุ์ มีขนหยาบและไม่เป็น 2 ชั้นเหมือนกวางผา ใต้ตามีต่อมน้ำมันใช้สำหรับถูตามต้นไม้หรือโขดหินเพื่อประกาศอาณาเขต พบกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, อินโดนีเซีย จนถึงเอเชียตะวันออก เช่น จีน, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น โดยมักอยู่ตามหน้าผาหรือภูเขาสูง หรือตามเกาะต่างๆ
สำหรับสถานการณ์ล่าเลียงผานั้น นอกจากการที่ป่าไม้อันเป็นที่พำนักถูกทำลายแล้ว เลียงผายังถูกไล่ล่า เพราะถูกเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ใช้น้ำลายในการรักษาบาดแผลที่ได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกเขา หรือบาดแผลจากการถูกยิง หรือใช้น้ำลายในการสมานกระดูกที่หักได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนั้น จึงมีการล่าเพื่อเอาน้ำมันเลียงผาใช้ในการรักษาบาดแผลและสมานกระดูก ทำให้ในอดีตเลียงผาถูกล่าเป็นจำนวนมาก เลียงผาแต่ละตัวสามารถสร้างเงินรายได้ให้ผู้ประกอบการขายน้ำมันเลียงผาได้อย่างมหาศาล ด้วยกระบวนการนำหัว และกระดูกของเลียงผา ไปต้มกับน้ำมันมะพร้าว แล้วใส่ขวดขนาด 100-150 ซีซี ขายกันในราคาขวดละ 10 บาทเท่านั้น
นอกจากการล่าแล้ว การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร ทำให้หลายพื้นที่ในปัจจุบันเลียงผาถูกไล่ต้อนให้อยู่ตามภูเขาสูง โดยเฉพาะภูเขาหินปูน นอกจากนี้ การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยบริเวณชายเขาหินปูนที่เลียงผามักจะลงมาหาน้ำและอาหารในที่ต่ำ ทำให้พื้นที่หากินลดลง และถูกล่าได้ง่ายขึ้น เลียงผาจึงลดจำนวนประชากรลงอย่างมาก นอกจากนี้ การระเบิดภูเขาเพื่อการผลิตปูนซีเมนต์และเพื่อการผลิตหินคลุก เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัยของเลียงผาโดยตรง
...