ทนายคดีคลองด่านรับ มีคนยื่นเสนอจ่ายใต้โต๊ะ 50 เท่า จ้างล้มยื่นฎีกา แต่ยืนยันไม่ถอดฎีกา พร้อมสู้เต็มที่ เพราะเป็นความเสียหายของประเทศชาติ..

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม 101 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายวิเชียร จึงรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมด้วย นายสุประวัติ ใจสมุทร ทนายความเอกชนจากบริษัท สุประวัติ อินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลแตนท์ จำกัด และนายสุชิน สังขพงศ์ ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการต่อสู้คดีทุจริตโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ (คลองด่าน) อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ มูลค่า 23,000 ล้านบาท  กล่าวหา นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และพวกรวม 19 คน จากกลุ่มบริษัท กิจการร่วมค้า NVPSKG ผู้ดำเนินโครงการคลองด่าน ในความผิดฐานฉ้อโกง

นายวิเชียร กล่าวว่า หลังจากที่ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษายกคำร้องเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางคพ.มีความพยายามอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ ประเด็นสำคัญที่จะยื่นฎีกาต่อศาลแขวงดุสิต โดยได้ให้นายสุประวัติทนายความ เป็นผู้ดำเนินการยื่นฎีกาตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา และครบกำหนดในวันที่ 19 ธ.ค. โดย คพ.ได้ขอให้ศาลชั้นต้นรับรองความถูกต้อง เพื่อให้ฎีกาที่ยื่นไปนั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยยืนยันว่าฎีกามีความสมบูรณ์ครบถ้วนแล้ว และเพื่อไม่ให้มีช่องว่างที่จะซิกแซก หรือเทคนิคทางกฎหมายได้ ซึ่งยืนยันว่า คพ.ได้ทำทุกอย่างเต็มที่ และรับรองว่าจะไม่มีการสมยอมกับคู่กรณีอย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่ทนายความเสนอให้นำฎีกาไปหารือกับเอกชนนั้น ไม่ใช่จุดยื่นของ คพ. เพราะจุดยืนของ คพ.คือต้องยื่นฎีกา หากไม่ยื่น คพ.ก็มีความผิด และหากอนาคตหลังจากยื่นฎีกาแล้ว จะมีการหารือกับเอกชนหรือไมนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่ คพ.ตัดสินใจเองไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนโยบาย

นายสุประวัติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทีมทนายความได้ดำเนินการในคดีที่ได้รับการว่าจ้างอย่างเต็มที่ ซึ่งยอมรับว่าการรับทำคดีคลองด่าน ส่วนตัวถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ ที่หน่วยงานรัฐจ้างทนายเอกชนภายนอกให้ทำคดีอาญา จากเดิมที่ต้องเป็นอัยการเป็นผู้ทำคดี แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินการมีความยาก ต้องหาพยานหลักฐานและพยานบุคคลจำนวนมาก มานำสืบทุกถ้อยคำทุกประเด็น และในฐานะทนายก็ต้องการทำงานให้รัฐชนะคดีอย่างแน่นอน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพากษาให้กลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้ากับพวกรวม 19 ราย ถูกลงโทษปรับรายละ 6,000 บาท และลงโทษจำคุกบุคคลธรรมดาคนละ 3 ปี และต่อมาในวันที่ 19 พ.ย.นี้ ในชั้นศาลอุทธรณ์ กลับมีการยกฟ้องคดีดังกล่าว

...

ดังนั้น เราจึงต้องฎีกาคดีให้ถึงที่สุด โดยได้มีการศึกษารายละเอียดในคำตัดสินของศาลอุทธรณ์อย่างละเอียด เพื่อที่จะยื่นฎีกา ซึ่งในระหว่างนั้น มีฝ่ายตรงข้าม ยื่นข้อเสนอให้เงินค่าจ้างมากกว่า 50 เท่า จากที่ คพ.จ้างงวดทุดท้าย 300,000 บาท เพื่อไม่ให้มีการยื่นฎีกา เพื่อให้จำเลยทุกคนหลุดพ้นจากคดี แต่ตัวเองไม่ยอม เพราะงานนี้เป็นงานของชาติ ซึ่งหลังจากปฏิเสธก็มีการติดต่อกลับมาหลายครั้ง และเป็นไปไม่ได้ที่จะถอดฎีกาคืน เพราะได้มีการยื่นแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.แล้ว และได้ขอให้ศาสชั้นต้นรับรองความถูกต้องของคดีเพื่อตัดช่องทางเทคนิคต่างๆ ทางกฎหมาย

“จากที่ได้ศึกษาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้มีคำโต้แย้งไปในฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์มีการพิจารณาคดีจากพยานหลักฐานเพียงบางส่วนเท่านั้น และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้รับเหมา ซึ่งเป็นจำเลยบางส่วน ไม่ได้มีการทุจริต ก็ได้มีการโต้แย้ง และโจทก์เคยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษกลุ่มผู้รับเหมา 2 กระทงก็จะให้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยด้วย ซึ่งขอยื่นยันว่าเป้าประสงค์ของทนาย ควรต้องการให้คดีนี้ได้รับการพิจารณาในชั้นศาลฎีกา และมีผลการตัดสินคดีออกมาอย่างยุติธรรม” นายสุประวัติ กล่าว

นายสุประวัติ กล่าวต่อว่า ในกรณีที่ได้เสนอทางออกให้กับอธิบดี คพ. ว่าจะให้ถอนฎีกาคดีอาญาของนายวัฒนา กับคดีอนุญาโตตุลาการนั้น เป็นเพียงข้อเสนอของตัวเองเท่านั้น ซึ่งตัวเองเห็นว่าสามารถทำเพื่อประเทศชาติได้ แม้ว่าไม่สามารถถอนฎีกาเพื่อเป็นขอแลกเปลี่ยน แต่ตัวเองได้ทราบมาว่าในคดีแพ่งที่อนุญาโตตุลาการในคดีแพ่งได้ชี้ขาด เพื่อให้ คพ.รับผิดชอบเป็นจำนวนเงินกว่า 10,000 ล้านบาท หาก คพ. ต้องจ่าย ก็คือเงินภาษีของประชาชน แต่ในเมื่อได้ยื่นฎีกาไปแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำฎีกาไปหารือกับฝ่ายเอกชน เพื่อให้ถอนฟ้องคดีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นคนคิดแบบทนายความที่ไม่ต้องการให้ประเทศต้องเสียเงินภาษีประชาชน และยอมถอนฟ้อง เป็นพียงข้อเสนอ ซึ่งดีกว่าถอนฟ้องโดยที่ไม่ได้อะไรเลย

“ข้อเสนอนี้ เชื่อว่ามีความคิดเห็น 2 มุม คือ มุมของเงินรายได้ของรัฐที่ไม่ต้องเสียให้กับเอกชน 10,000 ล้านบาท และในอีกมุมหนึ่งคือ จำเลยต้องได้รับการลงโทษ เป็นความคิดเห็นของผมเพียงคนเดียว จะดำเนินการอย่างไรก็เป็นเรื่องของอนาคต และการตัดสินใจของ คพ. แต่จากจุดนี้ถ้าจะให้ถอดฎีกา ผมไม่ยอมอย่างเด็ดขาด” นายสุประวัติ กล่าว

ทั้งนี้ คดีที่ คพ. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) กับพวกรวม 19 คน ต่อศาลแขวงดุสิต เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2547 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 254/2547 ฐาน เพราะ คพ. ได้ทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ (คลองด่าน) จ.สมุทรปราการ โดยสำคัญผิดในตัวคู่สัญญา ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญา จนเป็นเหตุให้คู่สัญญา หรือจำเลยในคดีนี้ได้ไป ซึ่งทรัพย์สินของ คพ. และสำคัญผิดว่าที่ดินที่จำเลยนำมาเสนอขายเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการ เป็นที่ดินที่ออกโฉนดโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2552 ลงโทษ ปรับจำเลยที่เป็นนิติบุคคลจำนวน 7 ราย รายละ 6,000 บาท คือ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด จำเลยที่ 2 บริษัท ประยูรวิศว์การช่าง จำกัด จำเลยที่ 4 บริษัท สี่แสงการโยธา (1999) จำกัด จำเลยที่ 6 บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด จำเลยที่ 8 บริษัท เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด จำเลยที่ 10 บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด จำเลยที่ 12 และบริษัท ปาล์ม บีช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จำเลยที่ 16

นอกจากนี้ ยังลงโทษจำคุกจำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดา คนละ 3 ปี จำนวน 11 ราย คือ นายพิษณุ ชวนะนันท์ จำเลยที่ 3 นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ จำเลยที่ 5 นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล จำเลยที่ 7 นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล จำเลยที่ 9 นายรอยอิศราพร ชุตาภา จำเลยที่ 11 นายชาลี ชุตาภา จำเลยที่ 13 นายประพาส ตีระสงกรานต์ จำเลยที่ 14 นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ จำเลยที่ 15 นางบุญศรี ปิ่นขยัน จำเลยที่ 17 นายกว๊อกวา โอเยง จำเลยที่ 18 และนายวัฒนา อัศวเหม จำเลยที่ 19 และโทษปรับตามข้อ 1 และโทษจำคุกตามข้อ 2 เป็นโทษสูงสุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 แต่ คพ. ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิต ขอให้ศาลแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยขอให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมที่เป็นความผิดคือ ความผิดฐานฉ้อโกงเรื่องที่ดิน และความผิดฐานฉ้อโกงเรื่องสัญญา ซึ่งต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษา กลับเป็นให้ยกฟ้อง เพราะศาลฟังว่าพยานหลักฐานของจำเลย มีน้ำหนัก รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลย ร่วมกันกระทำความผิด.

...