ปัญหาการเผาหลังเก็บเกี่ยว เป็นหนึ่งในปัญหาระดับชาติ แม้ว่าภาครัฐจะขอความร่วมมือรวมถึงใช้ไม้แข็งให้ตัวบทกฎหมายจัดการ แต่แทบไม่ได้มีการลดการเผาลง

กรมส่งเสริมการเกษตร จึงเร่งเดินหน้าการขับเคลื่อนนโยบาย 3 R Model (3 อาร์โมเดล) หรือ 3 เปลี่ยน แนวทางเพื่อลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรตามนโยบายรัฐบาล มีเป้าหมายสำคัญคือ ทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้เข้าใจถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เผา และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร

สำหรับ 3R Model หรือ 3 เปลี่ยน ประกอบด้วย 1.เปลี่ยนพฤติกรรม Re-Habit ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผา โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยว และส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดการเผา 2.เปลี่ยนชนิดพืช Replace with High Value Crops ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกบนพื้นที่สูง จากพืชไร่เป็นไม้ผล พืชเศรษฐกิจแบบผสมผสานที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ อะโวคาโด แมกคาเดเมีย หรือไม้โตเร็ว และ 3.เปลี่ยนเป็นพืชทางเลือก Replace with Alternate Crops ปรับเปลี่ยนพืชทางเลือกบนพื้นที่ราบ เปลี่ยนพื้นที่นาปรัง หรือพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้ปลูกข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่วทดแทนการทำนาปรัง หรือปลูกผักในโรงเรือน

ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดการเผา ได้มีการศึกษาทดสอบ 3 R Model โดยนำเทคโนโลยีชีวภาพในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) คิดค้นและพัฒนากลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว

ขณะเดียวกันได้คิดค้นถังบ่มเพาะหัวเชื้อกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว โดยมีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนการขยายจุลินทรีย์ให้เกษตรกรสามารถผลิตขยายจุลินทรีย์ใช้ในชุมชน พร้อมเตรียมขยายนำร่องใน 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท และสุพรรณบุรี โดยมีเกษตรกร 2,400 คน พื้นที่รวม 59,000 ไร่ ตั้งแต่ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป.

...

สะ–เล–เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้าเท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม