จากกรณีเกษตรกรวังกุ้งคลองด่าน จ.สมุทรปราการ พบปลาที่มีลักษณะผสมกันระหว่างปลาหมอคางดำกับปลานิล และมีการตั้งข้อสังเกตสงสัยว่าจะมีการกลายพันธุ์เป็น ปลานิลคางดำ หรือไม่
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจง ปลานิล หรือ Nile tilapia (Oreochromis niloticus) ส่วนปลาหมอคางดำ หรือ Blackchin tilapia (Sarotherodon melanotheron) เป็นปลาที่อยู่คนละสกุล (genus) ลักษณะภายนอกมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ปลานิลจะมีแก้มและตัวสีคล้ายกัน หางมนและมีลายเส้น ส่วนปลาหมอคางดำ ใต้คางจะมีจุดสีดำ หางเว้า และไม่มีลวดลาย
พฤติกรรมการฟักไข่และดูแลลูกปลาก็มีความแตกต่างกันด้วย ปลานิลเพศเมียจะมีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน ส่วนปลาหมอคางดำ ปลาเพศผู้มีพฤติกรรมดูแลไข่และตัวอ่อน
จากความแตกต่างนี้ ทำให้ในธรรมชาติปลาทั้งสองชนิดจะไม่ผสมข้ามพันธุ์
ความน่าจะเป็นในการเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ในธรรมชาติมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก และยังไม่พบข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่ระบุการผสมข้ามพันธุ์ในธรรมชาติระหว่างปลาทั้ง 2 ชนิด
ประกอบกับเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมประมงได้เคยทดลองเลี้ยงปลานิล ปลาหมอคางดำ ปลาหมอเทศ ร่วมกัน เพื่อศึกษาว่าหากอยู่ในแหล่งอาศัยเดียวกันจะสามารถผสมข้ามสายพันธุ์หรือไม่
ผลการทดลองปรากฏว่า ไม่มีการผสมข้ามพันธุ์กัน อีกทั้งยังพบปลานิลแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวโดยกัดปลาหมอคางดำด้วย
ดังนั้น ความกังวลในเรื่องของการกลายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์นั้นจึงเป็นไปไม่ได้
ส่วนการที่จะระบุว่าปลาที่ปรากฏในข่าวเป็นปลาลูกผสมหรือไม่ ต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการ ทั้งด้านอนุกรมวิธานและทางอณูพันธุศาสตร์ โดยนักวิชาการที่มีความรู้เฉพาะทาง
...
อย่างไรก็ตาม เพื่อความสบายใจของพี่น้องเกษตรกรและประชาชน ได้มอบหมายให้สำนักงานประมงจังหวัดร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ไปยังบ่อเลี้ยงที่พบปลาดังกล่าวและเก็บตัวอย่างปลาเพื่อนำมาตรวจสอบทางวิชาการที่ห้องปฏิบัติการอนุกรมวิธานต่อไป.
สะ-เล-เต
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม