เห็ดฟาง...เห็ดที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยได้รับความนิยมเพาะบริโภคอย่างแพร่หลาย มีกำลังการผลิตสูงถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตเห็ดรวมที่ผลิตได้ในประเทศ

โดยมีภาคกลางเป็นแหล่งการผลิตหลักและมีตลาดกลางที่จำหน่ายผลผลิตเห็ดฟาง มีราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 100-150 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของดอกเห็ดฟางตามเกณฑ์มาตรฐานชั้นคุณภาพ

แต่ปัญหาสำคัญที่มักเกิดกับการผลิตเห็ดฟาง คือ เชื้อพันธุ์เห็ดฟางที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมักประสบปัญหาความอ่อนแอลง เนื่องจากความแปรปรวนทางพันธุกรรมและจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผลผลิตเห็ดฟางลดลงอย่างต่อเนื่อง ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร จึงได้ดำเนินการรวบรวม เก็บอนุรักษ์เชื้อพันธุ์เห็ดฟางจากพื้นที่ต่างๆ เพื่อดำเนินการเพาะทดสอบ และคัดเลือกเห็ดฟางสายพันธุ์ใหม่ที่ให้ ผลผลิตสูง มีลักษณะที่ดีตามความต้องการของตลาด จนได้เห็ดฟางพันธุ์ กวก.สทช.1

...

“เห็ดฟางพันธุ์ กวก.สทช.1 เป็นเชื้อพันธุ์ที่รวบรวมได้จากโรงเรือนของเกษตรกรใน จ.นครนายก และดำเนินการเก็บอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ในน้ำกลั่นนึ่งฆ่าเชื้อภายในศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย มาตั้งตั้งแต่ปี 2553 และในช่วงปี 2560-2561 ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพการสร้างตุ่มดอกของเห็ดฟางที่เก็บอนุรักษ์ 69 สายพันธุ์ พบว่ามีเห็ดฟาง 14 สายพันธุ์ที่สามารถสร้างตุ่มดอกเห็ดได้ และเมื่อนำมาศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา การให้ผลผลิตของเชื้อพันธุ์เห็ดฟางในโรงเรือนของกรมวิชาการเกษตร สามารถคัดเลือกสายพันธุ์เห็ดฟางที่มีศักยภาพให้ผลผลิตสูง และมีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาดได้ 4 สายพันธุ์

จากนั้นจึงดำเนินการเพาะทดสอบผลผลิตของสายพันธุ์ที่คัดเลือกได้เปรียบเทียบกับเห็ดฟาง 2 สายพันธุ์เดิม โดยใช้ฟางข้าว ขี้ฝ้าย และทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันเป็นวัสดุเพาะ พบว่า เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1 เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุด ดอกมีลักษณะแบบฐานกว้าง รูปร่างค่อนข้างกลม เปลือกหุ้มดอกหนา”

นางสาวจิตรา กิตติโมรากุล นักวิชาการโรคพืชชำนาญการ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เผยถึงที่มาของเห็นฟางพันธุ์ใหม่

สำหรับลักษณะเด่นของเห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1 ให้น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย 2,285.16 กรัม/ตารางเมตร เมื่อใช้ฟางข้าวและขี้ฝ้ายเป็นวัสดุเพาะ ให้ผลผลิตสูงกว่าเห็ดฟาง 2 สายพันธุ์เดิม ที่ให้น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย แค่เพียง 601.56 กรัม/ตารางเมตร

ให้ผลผลิตมากกว่า 2 สายพันธุ์เดิมถึง 300 เปอร์เซ็นต์

ส่วนการใช้ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมันเป็นวัสดุเพาะให้น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ย 3,450.93 กรัม/ตารางเมตร สูงกว่าเห็ดฟาง 2 สายพันธุ์เดิม ที่ให้น้ำหนักผลผลิตเฉลี่ยแค่ 648.43 กรัม/ตารางเมตร

...

ให้ผลผลิตสูงถึง 500 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 2 สายพันธุ์เดิม

ลักษณะเด่นประการถัดมา ดอกตูมเป็นทรงน้ำเต้า ฐานกว้างขนาด 11-58 มิลลิเมตร ยาว 14-58 มิลลิเมตร ดอกสีน้ำตาลอ่อนถึงเทาอมดำอ่อน ขนาดและรูปร่างของดอกตรงตามเกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตรของเห็ดฟาง (มกษ. 1515-2558) เริ่มเก็บผลผลิตได้หลังลดอุณหภูมิในโรงเรือนลงประมาณ 7 วัน และใน 1 รอบการผลิต มีระยะเวลาการเก็บผลผลิตได้นาน 2-3 สัปดาห์

นางสาวจิตราเผยอีกว่า เห็ดฟางพันธุ์ กวก. สทช.1 สามารถเพาะได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ศูนย์รวบรวมเชื้อพันธุ์เห็ดแห่งประเทศไทย มีแผนการผลิตและจำหน่ายเชื้อพันธุ์เห็ดฟางพันธุ์ใหม่ ในรูปแบบแม่เชื้อบริสุทธิ์ได้ปีละ 500 ขวด เกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถขอรับบริการเชื้อพันธุ์เห็ดได้ที่กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2579-0147 ในวันและเวลาราชการ.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่