ราษฎรบ้านบึงนคร-เขาจ้าว ขานรับผลการศึกษา EIA อ่างเก็บน้ำแพรกตะคร้อฯ เร่งรัด กรมชลฯ สร้างอ่างกักเก็บน้ำรองรับหน้าแล้ง เพื่อเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำพื้นที่ทำเกษตรและน้ำกิน น้ำใช้ของราษฎรและเกษตรกร ปราณบุรี–หัวหิน จ.ประจวบฯ วางเป้าแล้วเสร็จภายใน 4 ปี


เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 67 ที่โรงแรมประจวบแกรนด์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายปรีดา สุขใจ ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำแพรกตะคร้อ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนชุมชนต่างๆ 


จากนั้นในภาคบ่าย นายอาทร สุทธิกาญจน์ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 4 กรมชลประทาน และดร.ไชยทัศน์ อิ่มสำราญรัชต์  บริษัท ธารา-คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำคณะสื่อมวลชนติดตามความก้าวหน้าโครงการฯ และพื้นที่รับประโยชน์ โดยมี นายเกษม สุวรรณชาติ นายกอบต.เขาจ้าว นายเพชรพร โกมลฤทธิ์ กำนันตำบลเขาจ้าว นายสวัสดิ์ ชูยิ้ม รองนายก อบต.บึงนคร พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้นำท้องถิ่น ร่วมลงพื้นที่

...

 

นายอาทร สุทธิกาญจน์ ผู้อำนวยการส่วนวางโครงการที่ 4 กรมชลประทาน กล่าวถึงความเป็นมาในการจัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำแพรกตะคร้อ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า เนื่องจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี ตำบลหนองตาแต้ม ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่กรมชลประทานได้ก่อสร้างไว้เมื่อปี 2510 และมีการใช้งานเพื่อกักเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2522 เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกเป็นบางส่วน ปัจจุบันอาคารต่างๆ ได้ถูกใช้งานมากนานกว่า 40 ปี ประกอบกับพื้นที่เดิมในเขตชลประทานทั้งหมด 212,175 ไร่ แต่เนื่องจากมีการใช้น้ำที่มากขึ้นส่งผลให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรีสามารถส่งน้ำได้เพียง 167,100 ไร่ เท่านั้น 

                   

ดังนั้น เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืนให้ชาวประจวบคีรีขันธ์ กรมชลประทานจึงได้วางแผนปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี ประกอบด้วย การเพิ่มระดับเก็บกักอ่างเก็บน้ำปราณบุรี การปรับปรุงคลองส่งน้ำและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเพื่อส่งน้ำให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำแพรกตะคร้อ อ่างเก็บน้ำคลองน้อย อ่างเก็บน้ำตะลุยแพรกซ้าย และอ่างเก็บน้ำแพรกกระทุ่ม โดยจะเริ่มดำเนินการอ่างเก็บน้ำแพรกตะคร้อเป็นโครงการแรก เพื่อเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และพื้นที่ทำการเกษตรบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำของราษฎร 2 แห่ง คือตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี และตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสริมศักยภาพให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี และลดปัญหาอุทกภัยบริเวณริมฝั่งคลองแพรกตะคร้อ โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 4 ปี หรือแล้วเสร็จประมาณปี 2571 ราษฎรถึงสามารถใช้งานได้ ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จอ่างดังกล่าวฯ จะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภค-บริโภคของราษฎรได้เพียงพอตลอดปี ตลอดจนเพิ่มศักยภาพปริมาณน้ำให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรีอีกทางหนึ่งด้วย                  

 

                 

ด้าน ดร.ไชยทัศน์ อิ่มสำราญรัชต์ บริษัท ธารา-คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแพรกตะคร้อฯ จำเป็นต้องมีการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอต่อการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อนที่จะมีการสำรวจ ออกแบบ และก่อสร้างต่อไป โดยสภาพพื้นที่ศึกษาตั้งอยู่บนห้วยตะลุยแพรกขวามีพื้นที่ รับน้ำฝนจากตำแหน่งที่ตั้งหัวงาน 179.73 ตร.กม. หรือประมาณ 112,331 ไร่ และอยู่ในลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปราณบุรีซึ่งมีพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมด ประมาณ 2,917.28 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,823,300 ไร่ ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาหนึ่งในลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปราณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

                  

สำหรับวัตถุประสงค์ของการศึกษา 1. เพื่อจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) 2. เพื่อจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3. เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) และ 4. ประชาสัมพันธ์มวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน และของทุกภาคส่วน เพื่อแสดงให้เห็นว่า กรมชลประทานมีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาในพื้นที่ให้แก่ราษฎรอย่างโปร่งใสและสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของสาธารณชนอย่างจริงจังตลอดจนการเสนอความคิดเห็นและเสนอแนวทางในขั้นตอนต่างๆ ของการศึกษาโดยให้สอดคล้องและเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

...

                 

ด้าน นางสาวสุทธิกานต์ แซ่ปัง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 11 ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนในชุมชนตำบลบึงนครจะทำการเกษตร ทั้งพืชใช้น้ำน้อยและทำสวนทุเรียนโดยเฉพาะทุเรียนปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกว่าพันไร่ แต่เนื่องจากขาดแคลนแหล่งน้ำทำให้ได้ผลผลิตไม่ดี ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ต่ำ ซึ่งชาวบ้านดีใจมากที่กรมชลประทานมีแผนที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำฯ เพราะจะช่วยให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำกิน รวมทั้งมีน้ำกิน น้ำใช้เพียงพอแทนการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากแม่น้ำ ลำธาร ซึ่งไม่มีความสะอาด ปลอดภัย และถูกอนามัยที่ดี  


ส่วน นายเกษม สุวรรณชาติ นายกอบต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่เขาจ้าวไม่มีที่อ่างกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ยิ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดภัยแล้งอย่างรุนแรง น้ำในแม่น้ำ ลำคลองเหือดแห้ง ชาวบ้านและเกษตรกรประสบปัญหาเดือดร้อนอย่างมาก ต้องวิ่งไปหาน้ำพื้นที่อื่นมาใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรและน้ำกิน น้ำใช้ แต่หากในอนาคตมีแหล่งน้ำจากอ่างกักปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านก็จะหมดไป ปัจจุบันพื้นที่เขาจ้าวมีราษฎรอาศัยอยู่ 300 ครัวเรือนส่วนใหญ่ปลูกทุเรียนซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำเยอะ ดังนั้นชาวบ้านมีความเข้าใจอย่างมากถึงความจำเป็นในการก่อสร้างอ่างฯ และขอบคุณกรมชลฯ ที่ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความรู้และทำความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอ เช่น หากก่อสร้างจะได้รับผลกระทบอย่างไรและได้ประโยชน์อย่างไร รวมถึงได้ชี้แจ้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขต่างๆ จนชาวบ้านมีความเข้าใจและยอมรับในที่สุด

...

 

           

ส่วน นายเพชรพร โกมลฤทธิ์ กำนันตำบลเขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หลังจากได้เข้าร่วมรับฟังประชาพิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบของโครงการฯ ร่วมกับสมาชิกในชุมชน แม้การดำเนินโครงการจะมีปัญหาอยู่บ้าง เนื่องจากอาจต้องอพยพบ้านเรือนหรือพื้นที่ทำกินไปยังพื้นที่อื่น แต่ชาวบ้านพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาเพื่อแก้ไขข้อติดขัดต่างๆ ร่วมกันเพื่อให้กรมชลประทานสามารถสร้างอ่างเก็บน้ำได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อชาวบ้านในระยะยาว  ขณะนี้คนในชุมชนอยากจะให้กรมชลฯ เร่งสร้างอ่างเก็บน้ำแพรกตะคร้อให้เสร็จไวๆ เพื่อลดความเดือดร้อนของชาวบ้านจากปัญหาขาดแคลนน้ำ