นายกฯรับปมร้อนกรณีแก้ข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนอุทยานฯทับลาน ให้ สคทช.ไปตรวจสอบ ย้ำต้องรับฟังเสียงประชาชนเป็นสำคัญ แต่ยันไม่ยกเลิกมติ ครม.ปี 66 ที่ให้ใช้ “วันแม็ป” ในการปรับปรุงแนวเขต ขณะที่ “รมว.ทส.” ชี้ 3 แนวทางแก้ปัญหา ให้ดูแลที่ดินของชาวบ้านที่มีราว 5 หมื่นไร่ก่อน ส่วน “ธรรมนัส” ปัดงัดข้อกระทรวงทรัพยากรฯ ไม่อยากให้ดึง ส.ป.ก.ไปเกี่ยว เหตุไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ด้านอธิบดีกรมอุทยานฯ คาด 30 วันได้ข้อยุติการปรับแนวเขตอุทยานฯ โดยคนแห่เข้าแสดงความคิดเห็นการเพิกถอนผืนป่าอุทยานฯทับลานล้นหลาม จนบางช่วงระบบล่ม ต้องเปิดช่องทางแสดงความเห็นเพิ่ม ขณะที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยังเสียงแตก มีทั้งอยากให้ใช้แนวเขตเดิมและแนวเขตใหม่ เพื่อให้คนที่อยู่มาก่อนเป็นอุทยานฯ ได้สิทธิในที่ดินทำกิน

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค.2567 ถึงการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.สระแก้ว จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีมติเห็นชอบการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ.2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) ตามมติ ครม.16 มี.ค.2566 ซึ่งหากเห็นด้วยตามแนวเขตใหม่ จะทำให้พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ลดน้อยลงไปกว่า 2.65 แสนไร่ดังกล่าว จนทำให้มีประชาชน นักอนุรักษ์ผืนป่าต่างประสานเสียงค้านและให้ “เซฟทับลาน” จนกระหึ่มโลกออนไลน์

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงไปแล้ว เรื่องนี้เป็นมติรัฐบาลที่แล้ว ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ เคยกำกับดูแล เป็นเรื่องของสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ที่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญต้องรับฟังประชาชน ก่อนมีการเพิกถอน มีหลายกระบวนการที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และนำเสนอ ครม.ต่อไป และยังไม่มีความจำเป็นต้องยกเลิกมติ ครม.ปี 2566 อยู่ระหว่างการศึกษา ต้องดูให้ครบขั้นตอนก่อน ส่วนกรณีใช้แผนที่ One Map เป็นส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาตรงนี้ด้วย

...

ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทส. ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้เช่นกันว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ ครบกำหนดวันที่ 12 ก.ค. จากนั้นรวบรวมส่งให้กรมอุทยานฯ พิจารณา และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยที่ดินของชาวบ้านในขณะนี้มีประมาณ 5 หมื่นไร่ ที่จะดูแลชาวบ้านเป็นหลักก่อน ส่วนที่ดินทั้งหมดมีประมาณ 2.6 แสนไร่ ส่วนที่มีกระแสคัดค้านของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย เพราะอาจเป็นการเอื้อให้กับนายทุนนั้น รับฟังทุกเสียง เมื่อมีกระแสคัดค้าน จะนำมาพิจารณา

รมว.ทส.กล่าวอีกว่า ล่าสุดได้ให้นโยบายให้กรมอุทยานฯดำเนินการเร่งด่วน คือ 1.ให้พิจารณาสิทธิ์ชาวบ้านในการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ที่ทำกิน ต้องไม่มีนายทุนนักการเมืองถือครองเด็ดขาด พิสูจน์สิทธิ์ให้ชัดเจน 2.ให้ความเป็นธรรมชาวบ้านที่อยู่มาดั้งเดิมกว่า 20 ปี เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่ดินอย่างถูกต้องเป็นธรรม ไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน คาดว่ามีประมาณ 5 หมื่นไร่ และ 3.การจัดสรรพื้นที่ให้ชาวบ้านทำกิน ต้องไม่ตัดผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ห้ามตัดพื้นที่ต้นน้ำ หรือที่มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ ไม่อนุญาตให้แบ่งแยกออกไปเพราะต้องรักษาผืนป่าไว้ อาจ พิจารณาตัดแบ่งเฉพาะที่ประชาชนอาศัยและทำกินอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ยังไม่ถึงกระบวนการ ส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) อยู่ในส่วนของ ทส.ในขั้นตอนทำประชาพิจารณ์ และขอให้เข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ขออย่านำมาผสมผสานจนเข้าใจผิด ในฐานะที่กำกับดูแล ส.ป.ก.4-01 เป็นหน่วยงานที่รับนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) หาก สคทช.เห็นชอบจะนำเสนอต่อ ครม. และเมื่อ ครม.เห็นชอบให้ ส.ป.ก.นำไปจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรทำกิน ก็จะต้องนำไปปฏิบัติ ขอให้เข้าใจตรงนี้ ตนเห็นสื่อบางสำนักไปโจมตี ส.ป.ก.ทำให้เกิดความเสียหาย กรณีนี้เป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน ที่มีมาตรการและขั้นตอนอยู่ ขอให้ใจเย็นๆ ส่วนตรงไหนที่เป็นกลุ่มนายทุนบุกรุก ต้องถูกออกหมายจับดำเนินคดีอาญา นี่ไม่ใช่การงัดข้อกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับ ทส. เพราะคุยกันตลอด ไม่มีปัญหาอะไร

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่และทั่วประเทศทางออนไลน์ว่า จะนำข้อมูลทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยาน แห่งชาติ ใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 30 วัน โดยยึดหลักความถูกต้องและฟังเสียงทั้งหมดทุกประเด็น ทั้งการทำกินและการรักษาพื้นที่ป่า ทั้งนี้ พื้นที่กว่า 2 แสนไร่ มีทั้งชาวบ้านที่อยู่เดิม คนมาซื้อที่ต่อ และกลุ่มรีสอร์ต ที่ถูกดำเนินคดี 1.2 หมื่นไร่ ต้องนำมาพูดคุยว่าจะพิจารณาอย่างไร

ส่วนที่มีการมองว่ามติ ครม. 14 มี.ค.66 เอื้อให้นายทุนเข้าไปใช้ประโยชน์ทำรีสอร์ตหรือไม่นั้น นายอรรถพลกล่าวว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอยู่ และพื้นที่ที่มีประชาชนอยู่อาศัยให้คงสภาพเป็นที่ดินของรัฐ และที่ดิน ส.ป.ก.ยังถือเป็นที่ดินของรัฐอยู่ ใครใช้ประโยชน์จะต้องมีคุณสมบัติ หากคุณสมบัติไม่ถูกต้องจะถูกนำที่ดินกลับคืน คุณสมบัติของคนที่ได้รับไม่เท่ากัน บางคนอยู่เดิม บางคนมาซื้อเปลี่ยนมือ บางคนกว้านซื้อที่ภายหลังก็ไม่น่ามีสิทธิ์ ส่วนบุคคลใดที่ถูกดำเนินคดีในพื้นที่ดังกล่าวนั้น จะไม่ได้รับการยกเว้น

ต่อมาในช่วงเย็นวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่องทางที่กรมอุทยานฯเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กรณีการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค.2567 ช่องทาง http://it.dnp.go.th/thaplan/ และกรมอุทยานฯต้องเปิดช่องทางแสดงความเห็นกรณีการเพิกถอนอุทยานฯทับลาน เพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่งที่ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=37163 ปรากฏว่าเนื่องจากตลอดทั้งวัน มีประชาชนเข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน จนทำให้ระบบรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมอุทยานฯล่มเป็นช่วงๆ โดยช่วงครึ่งวันมีประชาชนเข้าร่วมแสดงความเห็นแล้วกว่า 1 แสนราย ซึ่งข้อมูลการแสดงความคิดเห็นผ่านกูเกิลแพลตฟอร์มจะถูกรวบรวมเข้าไปที่จุดเดียวกัน และประมวลผลออกมาหลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นสิ้นสุดในวันที่ 12 ก.ค.นี้

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่