พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จ.ปทุมธานี ชวนเที่ยวงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง "เรื่องข้าวชาวเกษตร" จัดเต็มองค์ความรู้ด้านข้าว เรียนรู้ความสำคัญของข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนไทย ที่เชื่อมโยงวิถีเกษตรไทย วัฒนธรรมที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ภายในงานพบกับนิทรรศการ "เรื่องเล่าของข้าว จากปลูกสู่ปาก" บอกเล่าความสำคัญของพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน พร้อมการอบรมวิชาของแผ่นดินและการอบรมเชิงปฏิบัติการ 8 วิชา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 67 พล.อ.อ.เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า การเกษตรถือเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เลือกเพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย ที่อยู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาโดยตลอด และในทุกๆ ปี ประเทศไทยจะมีพระราชพิธีอันเป็นมงคลแห่งการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก คือ พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรชาวไทย ซึ่งจัดขึ้นช่วงเดือนหก หรือประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติเกษตรกรไทย พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ จึงจัดงานตลาดเศรษฐกิจพอเพียง "เรื่องข้าวชาวเกษตร" ขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และนำเสนอสินค้า ผลผลิตปลอดภัย ไปสู่ประชาชนคนไทยต่อไป
...
ภายในงานนำเสนอองค์ความรู้จากนิทรรศการ "เรื่องเล่าของข้าว จากปลูกสู่ปาก" จัดแสดงความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านของไทยที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร และประโยชน์มากมาย นิทรรศการจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ "จากเมล็ดข้าวสู่ขนมปัง" การสร้างสรรค์และยกระดับข้าวพื้นบ้าน สู่การแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า พลาดไม่ได้กับการอบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการกว่า 8 หลักสูตร เรียนรู้ได้ทั้ง Onsite และ Online ฟรี อาทิ หลักสูตรเส้นทางข้าวไทย โดยอาจารย์แก่นคำหล้า พิลาน้อย กลุ่มชาวนาไทอีสาน จ.ยโสธร หลักสูตรเตาหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์ โดยอาจารย์คมสัน หุตะแพทย์ ผู้อำนวยการชุมชนนิเวศสันติวนา กรุงเทพฯ หลักสูตรสู้ภัยแล้ง ด้วยธนาคารน้ำใต้ดิน อาจารย์จรังศรี มาดีสุขสถิตย์ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.ชัยภูมิ เป็นต้น
ชม ชิม ช็อปสินค้าเกษตรปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กว่า 100 ร้านค้า จุใจ ทั้งของกิน ของใช้ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ต้นไม้พันธุ์ไม้ โดยเกษตรกรเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ในราคามิตรภาพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 02-529-2212-13, 087-359-7171 คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือ Facebook / Line ID : @wisdomkingmuseum