มะยงชิดและมะปรางหวานจังหวัดนครนายก สินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น และได้รับ GI มะยงชิดและมะปรางหวาน เมื่อปี 2559...และเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด
คาดการณ์ปริมาณผลผลิตมะยงชิด ในปีนี้จะมีประมาณ 640 ตัน ส่วนมะปรางหวานคาดการณ์ปริมาณผลผลิต 98 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 75 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฝนตก ในช่วงที่มะยงชิดและมะปรางหวานติดดอก และสาเหตุจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อน ทำให้ราคาจำหน่ายในปีนี้ขยับสูงขึ้นจากปีแล้ว
โดยมะยงชิดราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-350 บาท (ปี 2566 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100-250 บาท) และมะปรางหวานราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-200 บาท (ปี 2566 ราคาเฉลี่ย 80-150 บาท)
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อสังเกตในการเลือกซื้อมะปรางหวานจะมีลักษณะผลใหญ่ รูปทรงยาวรี ปลายเรียวแหลม รสชาติหวาน หอม กรอบ ไม่ระคายคอ ความหวานอยู่ในช่วง 16-19 องศาบริกซ์ พันธุ์ที่นิยมปลูกในพื้นที่เป็นพันธุ์ทองใหญ่ พันธุ์ทองนพรัตน์ พันธุ์ท่าอิฐ และพันธุ์แม่อนงค์
ส่วนมะยงชิดจะมีลักษณะผลใหญ่ รูปทรงไข่ ผลสุกสีเหลืองส้ม เนื้อหนา เนื้อแน่น เมล็ดลีบ รสชาติหวานอมเปรี้ยว หอม กรอบ ค่าความหวาน 18–22 องศาบริกซ์ พันธุ์ที่นิยมปลูกในพื้นที่เป็นพันธุ์ทูลเกล้า พันธุ์บางขุนนนท์ พันธุ์ท่าด่าน พันธุ์ชิดสาริกา พันธุ์ทูลถวาย และพันธุ์ชิดสง่า
ผู้บริโภคสนใจ สามารถสั่งซื้อสินค้าที่มีมาตรฐานผ่านการพิจารณาจากคณะทำงานระดับจังหวัดและกำกับด้วยคณะกรรมการระดับประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกนำสินค้ามาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง.
...
สะ-เล-เต
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม