“ทำนามาได้ราวๆ 6 ปีแล้ว เดิมไม่ได้คิดอยากมาทำเท่าไร เพราะเรียนจบมาด้านบริหารธุรกิจ เห็นตัวอย่างพ่อแม่ทำนาเหน็ดเหนื่อย แต่พอทำงานบริษัทได้ปีเดียว รู้สึกอยากเป็นเจ้านายตัวเองเลยกลับมาสานต่ออาชีพพ่อแม่ ช่วงแรกมีความรู้ไม่มาก อาศัยที่เคยช่วยพ่อแม่ตอนเด็กๆ ผสมกับถามญาติๆที่ทำนา หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นาน เริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น เพราะได้ศึกษาแนวคิดการทำเกษตรสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับแนวคิดการทำเกษตรแบบเดิม จนตอนนี้อยู่ตัวมาได้ 2 ปีแล้ว”
อิทธิพัทธ์ เอี่ยมสมาน Young Smart Farmer วัย 34 ปี จากบ้านคลองโขลง ต.บ้านจ่า อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี เล่าถึงที่มาของการผันตัวเองมาเป็นชาวนา ก่อนจะคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันในโครงการ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก” เพื่อค้นหาสุดยอดนักพัฒนาแปลงเพาะปลูกข้าวด้วย นวัตกรรมปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar On LINE ครั้งแรกของไทย จัดโดย บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และกรมส่งเสริมการเกษตร ในช่วงฤดูนาปีที่ผ่านมา
สมัครเข้าแข่งขัน ด้วยเจตนาต้องการนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาการทำนาของตัวเอง และผลที่ได้เป็นเหมือน อิทธิพัทธ์ ตั้งใจไว้
...
“การทำนาตามปฏิทินการเพาะปลูกของคูโบต้าไม่ได้ต่างจากการทำนาของเราเท่าไร เพียงแต่ความต่างกันตรง ทำตามปฏิทินมีความละเอียดถี่ถ้วนมากกว่า มีการให้จดบันทึกต่างๆ ทำให้เราได้รู้รายรับ-รายจ่าย พร้อมมีระบบแจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์มือถือ บอกให้รู้ถึงสภาพอากาศ โรคแมลงให้เราได้เตรียมรับมือล่วงหน้า นานถึง 5 วัน แม่นยำมาก ทำให้เราวางแผนรับมือได้ทัน โดยเฉพาะเรื่องฝน พายุที่บอกให้รู้ว่า ถ้าฝนจะมาน้ำมาก เราจะได้ไม่ต้องหว่านปุ๋ย ให้ไหลสูญเปล่าไปกับน้ำ
และยังมีการแจ้งเตือนให้เรารู้ด้วยว่า ช่วงไหนควรใส่ปุ๋ยได้แล้ว และควรใส่ปุ๋ยสูตรอะไรด้วย พร้อมมีระบบให้เราทำนาแบบเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว ที่เป็นเหมือนการบังคับให้ต้นข้าวออกกำลังกาย ให้ต้นแข็งแรง สามารถต่อสู้กับโรคแมลงได้ดี เลยทำให้เราไม่ต้องเสียเงินค่าฉีดพ่นสารเคมี และลดต้นทุนค่าน้ำมันสูบน้ำเข้านา”
อิทธิพันธ์ บอกว่า ผลการทำนาตามปฏิทินการเพาะปลูก KAS Crop Calendar On LINE ที่มีอยู่ทั้งหมด 19 ขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมดินไปจนถึงเก็บเกี่ยว ช่วยทำให้ต้นทุนลดลงไปได้ถึง 30-40% จากเดิมที่มีค่าใช้จ่ายต้นทุนตกอยู่ที่ไร่ละ 5,000-6,000 บาท ลดลงมาเหลือแค่ 4,000 บาท
...
ในเรื่องของผลผลิต จากเดิมที่เคยได้ไร่ละ 800-900 กก. เพิ่มมาเป็นไร่ละ 1,000 กก. ทั้งที่นา 5 ไร่ แปลงที่ปลูกแข่งขันสภาพดินไม่ค่อยดี เพราะผ่านการปลูกมาแล้ว 3 รอบ
และเมื่อหักค่าใช้จ่ายจากการทำบัญชีตามปฏิทินเลยส่งผลทำให้การปลูกทำให้ได้กำไร ไร่ละ 8,000 บาท จากทำแบบเดิมได้กำไรแค่ไร่ละ 6,000 บาท.
ชาติชาย ศิริพัฒน์
คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม