ท่ามกลางควันไฟสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเคมีพุ่งกระฉูด สร้างภาระต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร “โครงการส่งเสริมและพัฒนา การผลิตสินค้าเกษตร” ของกระทรวงมหาดไทยจึงได้เกิดขึ้น เพื่อให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตทางการเกษตร ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมี และเพิ่มผลผลิต
บ.คลองไทร ต.นายางกลัก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ เป็นหนึ่งในแปลงเกษตรตัวอย่าง ที่ทำให้เห็นว่า การหันกลับมาใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีแล้ว ยังเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างทันตาเห็น
“ตอนแรกเราออกไปชักชวนชาวบ้านให้มาเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้ปุ๋ยเคมี บอกไปชาวบ้าน ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครเอาด้วย เราเลยต้องทำแปลงตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็น เอาที่ดินของตัวเองที่มีอยู่ 21 ไร่ ซึ่งเดิมใช้ปลูกแตงกวา และปลูกหญ้าเลี้ยงแพะ แบ่งพื้นที่มา 3 ไร่ มาทำเป็น แปลงตัวอย่าง ปลูกมันสำปะหลัง เพราะพื้นที่แถบนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก ใช้ปุ๋ยเคมี แต่ได้ผลผลิตเฉลี่ยแค่ไร่ละ 2-3 ตันเท่านั้นเอง”
...
นางธนวรรณ์ อ่างคำ แพทย์ประจำตำบลนายางกลัก วิทยากรโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร อ.เทพสถิต บอกว่า หลังจากลงมันสำปะหลังไปได้แค่ 2เดือน ผลการปลูกและบำรุงดิน ด้วยปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ กลับให้ผลผลิตได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ปกติการปลูกแบบชาวบ้าน มันสำปะหลังอายุแค่ 2 เดือน ขุดขึ้นมาแล้วจะให้หัวอย่างมาก ไม่เกิน 6-7 หัว แต่พอเปลี่ยนมาใช้ตามวิธีของโครงการ มันสำปะหลังอายุ 2 เดือน ให้หัว 20–24 หัว นอกจากหัวมันสำปะหลังจะดก แต่ละหัวยังจะใหญ่กว่าอีกต่างหาก
“พอชาวบ้านมาเห็นอย่างนี้เลยเอาไปพูดแบบปากต่อปาก จะเอาอย่างกันบ้าง เพราะผลผลิตแค่ 2 เดือน ยังได้มากขนาดนี้ พอถึงอายุขุดขึ้นมาขาย แปลงนี้ คิดว่า อย่างน้อยต้องได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 5 ตันแน่ๆ ที่สำคัญได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ในขณะที่ต้นทุนใช้ต้นทุนน้อยลงจากเดิมเคยใส่ปุ๋ยเคมีไร่ละ 500 บาท แต่พอมาใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก ค่าใช้จ่ายเหลือแค่ไร่ละ 165 บาทเท่านั้นเอง ลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ถึง 67 เปอร์เซ็นต์”
แต่การจะได้ผลผลิตมากด้วยต้นทุนแบบนี้ ธนวรรณ์ บอกว่า ไม่ใช่ทำแค่ใส่ปุ๋ยหมักและฉีดพ่นน้ำหมัก ทุกอย่างจะต้องทำตามวิธีของโครงการฯ อยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรก ทำปุ๋ยหมักรองก้นหลุม อย่านำมูลสัตว์มารองก้นหลุมโดยตรง เพราะมักจะมีเชื้อโรคติดมากับมูลสัตว์ แต่ให้นำมูลสัตว์ 1 ส่วน แกลบ 1 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน และเอาน้ำหมักมาผสมให้เข้ากัน พอหมาดๆ จากนั้นเอาไปใส่กระสอบวางกองหมักทิ้ง 10-15 วัน... แล้วเอาใช้รองก้นหลุม 1 กำมือ ต่อ 1 ท่อนพันธุ์
แต่ถ้ามีทุนมากพอ ทำเอาไว้เยอะ เหลือจาก รองก้นหลุมเอาไปหว่านให้ทั่วแปลง
ขั้นถัดมา เตรียมท่อนพันธุ์ นอกจากจะได้ท่อนพันธุ์ดีแล้ว จะต้องเป็นท่อนพันธุ์ที่ตัดใหม่ๆ ตัดให้ยาวท่อนละ 6 ข้อ จากนั้นนำไปจุ่มแช่ในน้ำหมักนาน 7 วัน ให้น้ำหมักท่วมแค่ 2 ข้อท่อนพันธุ์ เพื่อเร่งให้ท่อนพันธุ์แตกรากเร็ว...ลงท่อนพันธุ์ให้มีระยะห่างกัน 0.80-1 เมตร เพื่อจะได้มีพื้นที่เดินเข้าไปฉีดพ่นน้ำหมักได้สะดวกเนื้อที่ 1 ไร่ ลงท่อนพันธุ์แค่ 1,600 ท่อน ไม่ใช่ 3,000 ท่อน เหมือนที่เกษตรกรทั่วไปนิยมทำกัน
ขั้นตอนที่สาม สร้างบ้านให้จุลินทรีย์ทำดินร่วน ด้วยการนำปุ๋ยหมักที่ทำไว้ในขั้นตอนแรก มาผสมกับ โดโลไมท์ ในอัตราส่วน ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน โดโลไมท์ 1 ส่วน รำละเอียดอีก 1 ส่วน มาผสมให้เข้ากัน ปั้นให้เป็นก้อนเท่ากำมือ แล้วนำไปฝังดินในแปลงปลูกทุกๆ 5 เมตร เพื่อให้จุลินทรีย์ทำหน้าที่พรวนดินให้ร่วน รากมันสำปะหลังจะได้แทงหัวได้ง่าย และขยายตัวได้ดี
...
สำหรับขั้นตอนการทำน้ำหมักที่เป็นหัวใจสำคัญนั้น ส่วนผสมประกอบด้วย อีเอ็มแห้ง 1 กก. (ถ้าหาไม่ได้ให้ใช้ ปลาร้า หรือกะปิ 1 กก.แทน) กากน้ำตาล 1 กก. เกลือป่น 1 กก. น้ำตาลทรายแดง 1 กก. หัวเชื้อน้ำหมักอีเอ็ม 1 ลิตร น้ำสะอาด 50 ลิตร ผสมให้เข้ากัน ใส่ถังปิดฝาให้สนิท หมักทิ้งไว้ในที่ร่มนาน 7 วัน
นำไปใช้ฉีดพ่นบำรุงต้นมันสำปะหลังใน 3 ช่วงอายุ...15 วัน, 2 เดือน และ 3 เดือน โดยใช้ส่วนผสมในอัตรา น้ำหมัก 1 ส่วน ต่อ น้ำ 20 ส่วน
แต่ถ้านำไปแช่ท่อนพันธุ์ ให้ใช้ในอัตรา ส่วน น้ำหมัก 1 ส่วน ต่อ น้ำ 200 ส่วน.
...
ชาติชาย ศิริพัฒน์
คลิกอ่านข่าวเกษตรเพิ่มเติม