เตือนประชาชนริม 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.ชัยนาท ลงไปเฝ้าติดตาม เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำ หลังต้องระบายน้ำจากเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหตุมีมวลน้ำจากเหนือไหลหลากมาสมทบ ส่วนภาคอีสานสถานการณ์อุทกภัยเริ่มทรงตัว และมีแนวโน้มดีขึ้นในบางพื้นที่ ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาเตือน 30 จังหวัด ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมทั้ง กทม.และปริมณฑล มีฝนหนักถึงหนักมาก ทะเลทั้งอ่าวไทย-อันดามันมีคลื่นสูง

กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนสัปดาห์นี้ยังมีฝนตกหลายพื้นที่ จากร่องมรสุมพาดผ่าน เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังเผชิญกับอุทกภัยต่อเนื่อง อาทิ ที่ จ.นครพนม สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มดีขึ้น เนื่องจากแม่น้ำโขงลดลง ส่งผลดีต่อลำน้ำสาขาสายหลัก ได้แก่ ลำน้ำก่ำ ลำน้ำบัง ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม โดยเฉพาะลำน้ำก่ำ ที่รับมวลน้ำจากหนองหาร จ. สกลนคร ที่เร่งระบายลงน้ำก่ำ ผ่านพื้นที่ อ.วังยาง อ.นาแก ก่อนระบายลงน้ำโขงที่ อ.ธาตุพนม

ขณะที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้น้ำในเขื่อนลำปาวเกินความจุ ล่าสุด นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว เปิดเผยว่า ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางโครงการ ระบายน้ำในอัตราวันละ 7 ล้าน ลบ.ม.แต่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำยังไม่มีแนวโน้มลดลง จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านอาคารระบายน้ำเป็นวันละ 8.64 ล้าน ลบ.ม.ในวันที่ 23 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป จะทำให้ระดับน้ำลำน้ำปาวด้านท้ายเขื่อน มีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยืนยันว่าจะให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ด้านล่างน้อยที่สุด

...

ส่วนที่ จ.ร้อยเอ็ด มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 10 อำเภอ 50 ตำบล 341 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อ.เสลภูมิ โพนทอง เมยวดี ทุ่งเขาหลวง หนองพอก โพธิ์ชัย เชียงขวัญ ธวัชบุรี อาจสามารถ พนมไพร พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วม 36,803 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 6,245 ครัวเรือน เนื่องจากระดับแม่น้ำชีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ระดับลำน้ำยัง ที่ บ.ท่างาม อ.เสลภูมิ สูงกว่าตลิ่ง 1.30 เมตร และมวลน้ำจะไหลบรรจบกับแม่น้ำชีที่ บ.โพธิ์ตาก ต.นางาม อ.เสลภูมิ ซึ่งเมื่อตรวจสอบที่ บ.โพธิ์ตาก ที่อยู่ใกล้จุดบรรจบของลำน้ำยังและแม่น้ำชี มีปริมาณน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน สภาพเหมือนติดเกาะ ต้องใช้เรือสัญจรไปมา โดยมีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 60 หลังคาเรือน จาก 142 ครัวเรือน มาตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา และเริ่มมีปัญหาในเรื่องสุขาภิบาล เท้าเปื่อย ที่ผ่านมาองค์กรร้อยเอ็ดทำดี ร่วมกับทีมตอบโต้ภัยพิบัติ นำถุงยังชีพเข้าช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นแล้ว

ด้าน จ.อุบลราชธานี ผู้สื่อข่าวรายงานถึงระดับน้ำชี-มูล เมื่อสายวันที่ 23 ก.ย.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำชีและเซบายตอนล่าง สำนักชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ขึ้นธงแดงที่เขื่อนธาตุน้อย กั้นแม่น้ำชี เนื่องจากระดับน้ำสูงเกินระดับเก็บกักที่ 87 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 156 ของความจุเขื่อน พร้อมเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ต.ธาตุน้อย ต.สหธาตุ รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงใน อ.เขื่องใน เพื่อลดระดับน้ำที่ไหลท่วมนาข้าวและพื้นที่การเกษตรอื่นๆ ที่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำจำนวนนับหมื่นไร่ เช่นเดียวกับที่สถานีวัดระดับน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี มีการยกธงแดง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ถึงระดับน้ำที่เข้าขั้นวิกฤติ ต้องขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ไว้ที่สูงและอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อความปลอดภัย ส่วนทางทิศเหนือ อ.เหล่าเสือโก้ก อ.ตระการพืชผล มวลน้ำจากลำเซบก ได้ทะลักเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนประชาชนบางส่วน ทำให้มวลน้ำเริ่มโอบล้อมตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานี ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี สรุปพื้นที่ได้รับผลกระทบขณะนี้ มีทั้งหมด 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ อ.ม่วงสามสิบ อ.เดชอุดม อ.ตระการพืชผล อ.เหล่าเสือโก้ก อ.ดอนมดแดง และ อ.เขื่องใน มีประชาชนที่ต้องอพยพทั้งหมด 134 ครัวเรือน 474 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 26,017 ไร่

นอกจากนี้ ช่วงเช้าวันเดียวกัน เกิดปรากฏการณ์หมอกลงในหลายจังหวัด เช่นที่บริเวณอุทยานประวัติ ศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา หมอกปกคลุมไปทั่วบริเวณทำให้มองไม่เห็นปรางค์ประธานปราสาทหินพิมาย รวมถึงตามถนนในเขตเทศบาลตำบลพิมาย บริเวณตลาดจอแจหมอกหนาและบริเวณสวนสุขภาพ ถนนรอบสระเพลง จนมองไม่เห็นสระเพลง

เช่นเดียวกับที่ อ.เมืองสุรินทร์ โดยเฉพาะพื้นที่ ต.นาดี มีหมอกลงหนาตั้งแต่ช่วงเช้ามืด ประชาชนผู้ใช้เส้นทางต้องขับขี่และสัญจรด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากทัศนวิสัยในการมองเห็นบางช่วง อยู่ที่ระยะประมาณ 30-50 เมตร ซึ่งหากมองในมุมสูงระยะความสูงอยู่ที่ 80 เมตร พบหมอกปกคลุมเป็นบริเวณกว้างโดยรอบ เป็นทะเลหมอก

ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีมวลน้ำจากตอนบนของเขื่อนเจ้าพระยาไหลลงมาสมทบ สำนักงานชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท รวมถึงระบายน้ำผ่านระบบชล ประทานด้านฝั่งตะวันออกและตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริม 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท้ายเขื่อนตั้งแต่ จ.ชัยนาท ลงไป เฝ้าติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

...

สำหรับภาคใต้ ที่มีฝนตกต่อเนื่อง ปรากฏว่า ที่ จ.ภูเก็ต เกิดน้ำท่วมใน ต.ป่าตอง อ.กะทู้ นอกจากมีน้ำท่วมขังแล้ว เมื่อช่วงค่ำวันที่ 22 ก.ย.เกิดเหตุเสาไฟ 6 ต้นโค่นบนถนนสายหาดป่าตอง-หาดกะรน บริเวณโค้งหน้าโรงแรมเซ็นทารา กะรน ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต กีดขวางการจราจรและมีรถตู้โดยสารได้รับความเสียหาย 1 คัน แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต่อมาเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานระดมกำลังเข้าเคลียร์พื้นที่กว่า 3 ชม.จึงเคลื่อนย้ายเสาไฟฟ้าที่หักโค่น และเปิดการจราจรได้ตามปกติ

ด้านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในจังหวัดสตูล ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักและคลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 23-26 ก.ย.นี้ โดยให้อำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามปริมาณฝนตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากมีความเสี่ยงให้ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ทันที สำหรับพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วหากมีความเสี่ยงให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที พร้อมกันนี้ให้เตรียมความพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล และปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และให้หลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ หากเกิดภัยพิบัติในพื้นที่แจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน ปภ.1784 ตลอด 24 ชั่วโมง

กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ในช่วงนี้ไปจนถึงวันที่ 28 ก.ย.2566 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่างรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนมากบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สระบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร และอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงกว่า 2 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือ ด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง

...