สภาทนายความฯ ออกโรงช่วยเหลือ ผอ.ร.ร.ไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง พร้อมพวกมีทั้งภารโรง ผู้ใหญ่บ้าน รวม 5 คน หลังถูกตำรวจ สภ.ป่าโมก จับฐานพาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและให้ที่พักพิงนำเด็กนักเรียนชาวเมียนมาหนีภัยสงครามเข้ามาเรียนรวม 126 คน ทั้งที่มีฎีกาเทียบเคียงว่าการกระทำลักษณะนี้ไม่เป็นความผิด ด้าน “มานิจ สุขสมจิตร” บก.อาวุโส เครือไทยรัฐ ยืนยันครูทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ขอบคุณความช่วยเหลือจากสภาทนายความฯ

ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นายวิเชียร ชุปไธสง นายกสภาทนาย ความฯ นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความฯ นายกวี เจริญเศรษฐี ทนายความฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย น.ส.ศิวนุช สร้อยทอง หน.คลินิกทางกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา นำน.ส.กัลยา ทาสม ผอ.ร.ร.ไทยรัฐวิทยา ๖ จ.อ่างทอง มาแถลงข่าวกรณีครู ภารโรงของ ร.ร.ไทยรัฐวิทยา ๖ และผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งหมด 5 คน ถูกตำรวจ สภ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ดำเนินคดีฐานพาบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและให้ที่พักพิง โดยพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งสำนักงานอัยการ จังหวัดอ่างทองในวันเดียวกัน คดีนี้ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ให้การปฏิเสธและร้องขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความฯ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมพร้อมจัดทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ติดตามช่วย เหลือเด็กที่ถูกผลักดันออกนอกประเทศยังภูมิลำเนาเดิม ซึ่งเป็นเขตสงคราม

สืบเนื่องจาก น.ส.กัลยา ทาสม ผอ.ร.ร.ไทยรัฐวิทยา ๖ จ.อ่างทอง กับนายพิเชษฐ์ ปั้นงาม ผู้ใหญ่บ้านใน อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง เข้าร้องขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความฯ ว่า มีเด็กต่างด้าวจากตะเข็บชายแดนประเทศเมียนมาที่ผู้ปกครองนำมาส่งจำนวน 126 คน อายุอยู่ระหว่าง 6-12 ปี มาขอรับการศึกษา ชั้นประถมศึกษา ซึ่งโรงเรียนทำในลักษณะนี้มานานแล้วอย่างเปิดเผย ต่อมาถูกตำรวจจับส่งสำนวนให้ อัยการดำเนินคดี 2 ข้อหา ฐานพาบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองและข้อหาให้ที่พักพิง ทั้งที่ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ มีข้อยกเว้นว่า หากรับตัวไว้ให้การศึกษา อย่างเปิดเผยจะไม่เป็นความผิด โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1181/58 เป็นบรรทัดฐาน

...

ทั้งนี้ น.ส.กัลยา ทาสม ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ตนเป็นเด็กดอย สอบบรรจุเป็นข้าราชการครูมาทำงานที่ ร.ร.ราชพัฒนา ทางภาคเหนือ เห็นสภาพ เด็กที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนแล้วรู้สึกสงสาร กระทั่งตนเข้ารับตำแหน่งเป็น ผอ.ร.ร.ไทยรัฐวิทยา ๖ เลยรับเด็กที่ผู้ปกครองนำมาส่งให้เรียนหนังสือแบบโรงเรียนประจำ ครั้งสุดท้ายเด็กมาพร้อมกัน 72 คน กระทรวงศึกษาฯเห็นว่ามีจำนวนมากผิดปกติทำเรื่องสอบสวนแล้วร้องทุกข์ต่อตำรวจ ทำให้ถูกโยกย้ายพ้นตำแหน่งและถูกดำเนินคดี เลยตัดสินใจนำเรื่องมาร้องขอความช่วยเหลือกับสภาทนายความฯ

“ตอนนี้สภาพจิตใจแย่มากที่เห็นเด็กๆถูกผลักดันออกไป ส่วนดิฉันถูกจับ ส่งผลกระทบถึงครอบครัว หน้าที่การงานก็ถูกย้ายและตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง รู้สึกอึดอัดใจทั้งที่ตั้งใจช่วยเด็กให้มีโอกาสเรียนหนังสือ ยืนยันไม่อาฆาตผู้ที่แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี” น.ส.กัลยากล่าว

ขณะที่นายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส เครือไทยรัฐ เผยว่า ขอบคุณสภาทนายความฯและ มูลนิธิกระจกเงา กรรมการสิทธิมนุษยชนที่เข้ามา ช่วยเหลืออรรถคดีแก่ ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๖ เพราะครูมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่ได้พาเด็กต่างด้าวเข้ามา แต่เด็กๆเข้ามาหาเอง เป็นการช่วยให้เด็กๆเหล่านี้ ได้รับการศึกษา โรงเรียนทำในลักษณะนี้มานาน 20-30 ปีแล้ว ส่วนเด็กที่จบไปก็จะทำงานช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐ อเมริกาเวลามีคนต่างด้าวเข้ามาไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่เขาจะให้เรียนหนังสือทุกคน เพื่อมีความรู้และอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

มีรายงานว่า เย็นวันเดียวกัน นายวิเชียร ชุปไธสง นายกสภาทนายความฯ เปิดเผยว่า ตนสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีคำสั่งให้รับไว้ช่วยเหลือทาง อาญา ทางแพ่ง ทางปกครองทุกชั้นศาลแล้ว โดยสั่งการ ให้จัดคณะทำงานขึ้นหนึ่งชุดเพื่อรับผิดชอบในคดีนี้