นักศึกษา ม.ศิลปากร รวมกลุ่มจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ขับไล่ กกต. สว. และศาลรัฐธรรมนูญ ยันไม่เอาเผด็จการ ชี้ให้เห็นประชาธิปไตย เสียง สว.มีค่ามากกว่า ปชช. และมีอำนาจนอกเหนือ จึงขอให้ทุกคนลุกขึ้นมาแสดงจุดยืน
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 20 ก.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า ที่ประตูด้านหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อ.เมืองนครปฐม นักศึกษา ม.ศิลปากร ได้จัดกิจกรรมชุมนุมขับไล่ กกต., สว. และศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการเขียนกระดาษชูป้าย มีใจความโจมตีและด่าทอ เตรียมกระดาษแล้วมายืนกับเรา และข้อความ ติดแฮชแท็ก ศิลปากรไม่ทน ศิลปากรไม่เอาเผด็จการ พร้อมเขียนเชิญชวนประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิ "พิธา" โดยมีประชาชนจำนวนมากทั้งเยาวชน นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ท่ามกลางฝนตกโปรยปราย
โดยบรรยากาศนักศึกษายืนรวมตัวกันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะสันติวิธี โดยไม่มีการร้องเรียกส่งเสียงดัง หรือมีการส่งเสียงระดมพลแบบทุกครั้ง โดยกลุ่มที่เข้าร่วมชุมนุมได้ถือป้ายด้วยความสงบนิ่ง นอกจากนี้ยังมีแผ่นป้ายผ้าใบซึ่งเขียนติดที่บริเวณริมรั้วของมหาวิทยาลัย ว่าในระบบประชาธิปไตยทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน แต่ประชาธิปไตยเป็นเสียงของสว.มีค่ามากกว่าประชาชน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยคุมสถานการณ์ดูแลอยู่ โดยไม่มีเหตุรุนแรง
...
จากการสอบถามนักศึกษารายหนึ่ง เปิดเผยว่า จากกิจกรรมที่จัดมา น่าจะสร้างความรับรู้ การมองเห็น ตรงตามจุดประสงค์ของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และคิดว่ามีประชาชนนักศึกษาอีกจำนวนมาก ที่ต้องการแสดงจุดยืน หรือแสดงออกเชิญสัญลักษณ์ ต้องการมาเข้าร่วม อยากบอกไปถึงประชาชน และผู้มีอำนาจว่า อำนาจที่โดยปกติในระบอบประชาธิปไตยแล้ว ทุกคนมีอำนาจเท่ากัน หรือเรียกว่า Power belong to People แต่อำนาจที่มาจากไหนก็ไม่รู้และมามีอำนาจเหนือประชาชนโดยไม่ชอบมาพากล หรือผิดปกติ อยากให้ประชาชนตั้งคำถามกับมัน และแสดงจุดยืนต่ออำนาจนี้ ถ้าคุณเห็นด้วยกับการที่อำนาจที่ไม่ชอบธรรมนี้มากดทับอนาคตอยู่ก็ไม่ว่ากัน หากเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ขอให้ทุกคนลุกขึ้นมาแสดงจุดยืน
ทั้งนี้ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีการแถลงร่วมกับสภานักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร และสโมสรนักศึกษา 13 คณะวิชา เรื่อง ขอแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการไม่เคารพฉันทามติของประชาชนมาแล้ว จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงจากประชาชนกว่า 14 ล้านเสียง และในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งของการเลือกตั้ง และได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมในการพิจารณาเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ผลการลงมติในการประชุมครั้งนี้กลับสวนทางกับฉันทามติของประชาชน เนื่องจากมี สว.ลงมติไม่เห็นชอบ 34 เสียง งดออกเสียง 159 เสียง และมีเพียง 13 เสียง จาก 250 เสียงเท่านั้นที่ลงมติไปในทิศทางเดียวกันกับฉันทามติของประชาชน การกระทำดังกล่าวของสมาชิกวุฒิสภาบางคนจึงนับได้ว่าเป็นการไม่เคารพเสียงของประชาชน และการลงมติไม่สอดคล้องกับครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่ให้อำนาจบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงมากกว่าเสียงของประชาชนนับล้าน ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศชาติไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร สภานักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร และสโมสรนักศีกษา 13 คณะวิชา ยึดมั่นในหลักการตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมอารยะ
จึงขอแสดงจุดยืนความเป็นประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่เคารพฉันทามติของประชาชน และล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องปมหุ้นสื่อไอทีวี และพร้อมสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนเป็นอย่างมาก จึงได้มีการรวมตัวกันนัดชุมนุมขับไล่ กกต ไล่ สว. ไล่ศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้.
...