ส้มโอท่าข่อย หนึ่งในสินค้าจีไอของจังหวัดพิจิตร เป็นส้มโอพันธุ์ดั้งเดิมของพื้นที่ มีเนื้อชมพู ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมล็ดลีบมีรสขมเล็กน้อย แต่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ จากสารนารินจิน
ที่ช่วยลดระดับไขมัน น้ำตาลในเลือด เพิ่มปริมาณอินซูลิน สารลิโมนอยด์ ช่วยล้างสารพิษและยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง สารเบต้าแคโรทีน ต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงโฟเลต วิตามินบี B1 วิตามินซี โพแทสเซียม แคลเซียม จึงถือเป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ
“ปลูกส้มโอท่าข่อยมากว่า 30 ปี เพราะถือเป็นไม้ผลที่ปลูกค่อนข้างง่าย ทนแล้งทนน้ำท่วม ทนโรคแมลงกว่าสายพันธุ์อื่น ราคาก็ดี โดยเฉพาะปีนี้ดีกว่าปีอื่น ราคาหน้าสวน กก.ละ 20 บาท หลังส้มโอบ้านเราส่งออกไปอเมริกาได้ ที่สำคัญมีล้งรับซื้อในราคายุติธรรม เพราะล้งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกเอง ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีที่ขายหรือถูกกดราคา นอกจากส้มโอท่าข่อยแล้วยังมีการนำส้มโอสายพันธุ์อื่นมาปลูกในพื้นที่อีกด้วย เช่น ส้มโอขาวแตงกวา ทับทิมสยาม ทองดี ขาวแตงกวาได้ราคาดีที่สุดหน้าสวน กก.ละ 50 บาท แต่ก็ต้องแลกกับการดูแลรักษาที่ต้องมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันจึงโฟกัสไปที่ส้มโอท่าข่อยเสียเป็นส่วนใหญ่”
...
สำหรับเคล็ด ลับที่ทำให้ส้มโอท่าข่อยหวานชื่นใจ ถูกใจผู้บริโภค ลุงแล โพธิ์วัด แห่งสวนลุงแล หมู่ 3 ต.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ประธานศูนย์เรียนรู้การผลิตส้มโอแปลงใหญ่พันธุ์ท่าข่อย อธิบาย...เริ่มต้นที่การเอาใจใส่ หมั่นตัดแต่งกิ่งกาฝาก กิ่งแห้ง เพื่อให้ต้นติดดอกดี โดยเฉพาะช่วงหลังเก็บเกี่ยวครั้งที่ 1 ช่วงพฤษภาคม และครั้งที่ 2 ช่วงกันยายน
การให้น้ำต้องระวังอย่าให้น้ำมากไปเพราะจะทำใบร่วง ในระยะออกดอก ดอกจะร่วง ฉะนั้นช่วงดอกบานต้องระวังอย่าให้โดนฝนมากเกินไป ที่สำคัญช่วงระยะติดผลเดือนมีนาคมควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ 3–5 วันต่อครั้ง
ส่วนเคล็ดลับการให้ปุ๋ย ช่วงเตรียมต้นก่อนออก เดือนพฤศจิกายนหลังตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ต้นละ 2 กก. ระยะออกดอก ช่วงมกราคม พ่นปุ๋ยเกล็ดทางใบสูตร 0-52-34 ไร่ละ 0.4 กก. ทุก 15 วัน และใช้ฮอร์โมนไข่ และน้ำหมักชีวภาพฉีดเสริม ช่วงกุมภาพันธ์ ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ต้นละ 2 กก. และ 46-0-0 ต้นละ 1 กก. ระยะติดผล ช่วงพฤษภาคม ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 ต้นละ 2 กก. และ 46-0-0 ต้นละ 1 กก. และเดือนมิถุนายน ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-60 ต้นละ 2 กก. และพ่นปุ๋ยเกล็ดทางใบสูตร 0-50-34 ไร่ละ 0.4 กก.
สำหรับการป้องกันโรคและแมลง เดือนมกราคมและเมษายน ฉีดพ่นอีไทออน ไซเพอร์เมทริน อิมิดาโคลพริด ป้องกันเพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ ไรแดง หนอนเจาะดอก พ่นยาตามอัตรา และคำแนะนำข้างขวด และสลับกลุ่มยาในการพ่นเพื่อป้องกันการดื้อยา
ที่สำคัญช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต 15–30 วัน ห้ามใช้สารเคมีเด็ดขาด เพื่อป้องกันการตกค้าง
ส่วนการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะเพื่อการส่งออก จะเก็บเกี่ยวใน 2 ช่วงคือ ช่วงส้มปีหรือส้มโอออกมากเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และช่วงส้มทวายหรือผลผลิตที่เหลืออีก 20% เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่สำคัญต้องเก็บที่ความแก่ 80-90% เท่านั้น เพราะถ้าเก็บส้มโอไม่ได้อายุตามนี้ จะทำให้ได้รสชาติขมอมเปรี้ยว
ทั้งนี้การที่ส้มโอปีนี้ราคาดี เป็นผลมาจากการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนสนับสนุนแก่ รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา” จนทำให้ทางการสหรัฐอเมริกายินยอมให้ส้มโอไทยส่งออกไปได้โดยผ่านกรรมวิธีที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าว.
...
กรวัฒน์ วีนิล