สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เร่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่มาปรับใช้ในนาข้าว ช่วยเกษตรกรลดแรงงาน เวลา ค่าใช้จ่าย แถมแม่นยำกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 66 นางสาวอมรรัตน์ อินทร์มั่น ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร อายุเฉลี่ยของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบในภาคการเกษตรมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา ซึ่ง จ.สุพรรณบุรี ถือได้ว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา เนื่องจากมีแหล่งน้ำธรรมชาติ พื้นที่อุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากปัจจุบัน ชาวนาประสบปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวสูง ทำให้รายได้ลดลง
"กรมการข้าวได้เห็นปัญหาตรงนี้ จึงได้มีการพัฒนาและวิจัยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ โดยนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมาใช้ในนาข้าว สามารถใช้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา การสำรวจนาจนกระทั่งขั้นตอนการเก็บเกี่ยว โดยเจ้าหน้าที่กรมการข้าวได้มีการผลักดันให้เกษตรกรได้เข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้มากที่สุด ใช้งานง่าย และต้องมีราคาที่เกษตรกรสามารถจับต้องได้ ซึ่งการทำนาแบบใช้เทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าว เพิ่มผลผลิต นอกจากนี้ยังช่วยการตัดสินใจของเกษตรกร สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรอีกด้วย"
...
ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะมีหลากหลายเทคโนโลยี เช่น สถานีตรวจวัดอากาศ เครื่องนี้จะประกอบไปด้วยตัววัดอุณหภูมิ ตัววัดปริมาณน้ำฝน สามารถวัดค่าแรงลม ทิศทางของลม และค่าความชื้นได้ รวมถึงกล้องที่ติดตั้งในแปลงนา ทำให้เราสามารถเห็นแปลงนาได้ ณ เวลานั้นๆ เกิดความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถตรวจเช็กแปลงนาได้ตลอดเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือ และกรมการข้าวกำลังพัฒนา Weather station ซึ่งเป็นโมเดลการพยากรณ์เรื่องการระบาดโรคและแมลง ซึ่งสามารถติดตั้งได้ทั่วประเทศไทย ปัจจุบันกรมฯได้ติดตั้งแล้ว 20 กว่าตัวทั่วประเทศ เพื่อช่วยประเมินและคาดคะเนการระบาดโรคและแมลง