เหตุปลาตายเกลื่อนบนหาดทุ่งวัวแล่นจำนวนมาก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ ตรวจสอบพบน้ำทะเลมีสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นเหม็น เพราะแพลงก์ตอนกลุ่มไดอะตอมตายลงทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน ขณะที่ ผู้ว่าฯ ชุมพร นำทีมฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจิตอาสาเร่งทำความสะอาด หวั่นกระทบแหล่งท่องเที่ยว
จากสถานการณ์ปลาตายเป็นจำนวนมากบริเวณหาดทุ่งวัวแล่น (หน้ารูปปั้นวัวกระทิง) ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว ตั้งแต่เวลา 01.00 น. ของวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดจังหวัดชุมพร ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งชุมพร ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลชุมพรได้ลงพื้นที่และดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุการตาย รวมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 3 จุด เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำ ชนิดและปริมาณแพลงค์ตอน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 66 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง (ศวทก.) ดำเนินการตรวจสอบกรณีปลาตาย บริเวณหาดทุ่งวัวแล่น ต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ผลการตรวจสอบพบว่า น้ำทะเลมีสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นเหม็น ตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้น พบว่าปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ 2.21-3.46 mg/l ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานน้ำทะเล ที่มีค่า 4 mg/l ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก
...
การตรวจสอบเบื้องต้นด้วยกล้องจุลทรรศน์ พบแพลงก์ตอนกลุ่มไดอะตอม ชนิด Chaetoceros sp. Coscinodiscus sp. Bacteriastrum sp. ซึ่งแพลงก์ตอนกลุ่มนี้ไม่สร้างสารพิษ แต่เมื่อตายลงทำให้เกิดกลิ่นเหม็น และเกิดสภาวะขาดออกซิเจน จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ พบว่าปลาทะเลตายขึ้นมาเกยหาดบริเวณนี้มีเกือบทุกปี ปริมาณมากน้อยต่างกัน โดยปีนี้มีปริมาณค่อนข้างเยอะ ชาวบ้านเรียกว่า “ปลาตายน้ำแดง” ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝน
โดยปลาตายที่พบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปลาแป้น ปลาดอกหมาก และปลาอมไข่ โดย ศวทก. ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณสารอาหาร ในห้องปฏิบัติการต่อไป
ด้าน นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าฯ ชุมพร พร้อมด้วย ประมงจังหวัดชุมพร นายอำเภอปะทิว ผอ.ทสจ.ชุมพร และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะพลี ลงพื้นที่บริเวณชายหาดทุ่งวัวแล่น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวได้ จึงระดมส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจิตอาสาในพื้นที่ เร่งเก็บปลาที่ขึ้นมาตายบริเวณหน้าหาดให้มากที่สุด ป้องกันการส่งกลิ่นเหม็นกระทบต่อภูมิทัศน์ และได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ใช้เครื่องจักรเครื่องมือ เก็บปลาที่ตายอยู่กลางทะเลเมื่อสภาพน้ำอำนวย เพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสียและปลาขึ้นมาเกยหาดอีก.