ผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม นำเจ้าหน้าที่ประมง และชาวบ้าน ร่วมกันลงแขกจับปลาหมอคางดำภายคลองสัมมะงา หลังชาวบ้านร้องเรียนเป็นสายพันธุ์สปีชีส์ ทำลายสัตว์น้ำเศรษฐกิจพื้นถิ่น ส่งขายโรงงานทำอาหารสัตว์

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 21 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่คลองสัมมะงา คลองสาธารณะในพื้นที่ หมู่ 4 ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม และนายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดและชาวบ้านได้ร่วมกันลงแขกลงคลองจับปลาหมอคางดำ หลังชาวบ้านร้องเรียนว่าปลาดังกล่าวเป็นสายพันธุ์สปีชีส์ไม่ใช่สายพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นถิ่น ซึ่งมีบริษัทเอกชนรายหนึ่งนำเข้ามา เพื่อขยายพันธุ์เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ เมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา เมื่อไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากเป็นปลา เนื้อแข็ง ก้างเยอะ และไม่อร่อย ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด จึงเททิ้งในแหล่งน้ำธรรมชาติ

...

ต่อมา เอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดนี้ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของจังหวัดสมุทรสงครามและอาจรวมไปถึงระดับประเทศในอนาคตอีกด้วย โดยวางอวนล้อมจับในคลองสัมมะงา ซึ่งมีความกว้างประมาณ 5 เมตร น้ำลึกระดับเอว ระยะทางเพียง 80 เมตร ได้ปลาหมอคางดำทั้งตัวเล็กตัวใหญ่เกือบ 100 กิโลกรัม โดยพบปลานิลซึ่งเป็นปลาพื้นถิ่นขนาดตัวเท่ากับปลาหมอคางดำเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น

นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า การลงแขกลงคลองจับปลาหมอคางดำ เนื่องจากสำนักงานประมงจังหวัดฯ ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าปลาหมอคางดำ แพร่ระบาดเข้าไปในบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลากัดกินสัตว์น้ำชนิดอื่นที่ตัวเล็กกว่า เช่น ลูกปลาและกุ้งรวมทั้งสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นอาหาร คล้ายเอเลี่ยนสปีชี่ส์ ทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น มีนิสัยดุร้าย ปากใหญ่ เนื้อบาง ก้างเยอะ จึงไม่เป็นที่นิยมนำไปรับประทาน ส่วนที่มาของการแพร่ระบาดนั้น คาดว่าน่าจะมาตั้งแต่ก่อนปี 2559 ปลาหมอคางดำได้หลุดรอดลงสู่เเหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากมีผู้นำมาทดลองปรับปรุงสายพันธุ์ โดยในจังหวัดสมุทรสงครามพบการแพร่ระบาดมากที่สุดในตำบลแพรกหนามแดง ตำบลยี่สาร และตำบลคลองโคน

...

ที่ผ่านมาสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ได้มอบพันธุ์ปลากระพงให้เกษตรกรนำไปปล่อยในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อให้กัดกินทำลายลูกปลาหมอคางดำ แต่ก็ช่วยได้ระดับหนึ่งเนื่องจากปลาหมอคางดำ สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก โดยขยายพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุเพียงแค่ 2 เดือน ตัวเมียที่ตั้งท้องจะตกลูกได้ท้องละ 300-500 ตัว ขณะที่ตัวผู้จะทำหน้าที่เลี้ยงลูก ส่วนตัวเมียทำหน้าที่ตั้งท้องเท่านั้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะทำควบคู่กันไปในการกำจัดปลาหมอคางดำขณะนี้คือ การสนับสนุนชาวบ้านจับปลาหมอคางดำขายให้โรงงานปลาป่นนำไปทำอาหารสัตว์

นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ช่วงนี้มีโรงงานปลาป่นรับซื้อปลาหมอคางดำ กิโลกรัมละ 6-7 บาท เพื่อนำไปทำอาหารสัตว์ ชาวบ้านก็เริ่มจับปลาหมอคางดำไปขาย นอกจากจะมีรายได้แล้ว ยังทำให้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำน่าจะเบาบางลง อย่างไรก็ตามจังหวัดมีกองทุนประกันราคารับซื้อปลาหมอคางดำจากเกษตรกร กรณีขายโรงงานได้ราคาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท ก็จะชดเชยส่วนที่ต่ำกว่า 5 บาทให้.