ผู้ว่าฯ เพชรบุรี จับมือ อธิการบดี ม.ราชมงคลพระนคร ลงนามความร่วมมือทางวิชาการและพัฒนาบุคลากรผู้นำท้องถิ่น จ.เพชรบุรี พร้อมโชว์ผลงาน U2T 21ตำบล พัฒนาฐานรากเศรษฐกิจเมืองเพชร ในงานพระนครคีรี

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 21 มี.ค.66 ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขา รมว.การอุดมศึกษาฯ เป็นสักขีในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง 2 หน่วยงาน คือ "จังหวัดเพชรบุรี" กับ "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร" ทั้งนี้ พิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี

โดย ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ของมหาวิทยาลัย ร่วมลงนามเป็นพยาน ประกอบด้วย 1. รศ.ดร.นัฐโชติ รักไทยเจริญชีพ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคณาจารย์ 2. ผศ.ดร.อำนาจ เอี่ยมสำอางค์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกีฬาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ 3. ผศ.ยุทธภูมิ สุวรรณเวช คณบดีคณะศิลปศาสตร์ และ 4. ดร.นเรศ กันธะวงค์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปศาสตร์

ขณะที่จังหวัดเพชรบุรีโดย นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วยผู้บริหาร ร่วมเป็นสักขีพยานประกอบด้วย 1. นายประเสริฐ สุภัครพงษ์กุล ท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี 2.นางสาวมิ่งขวัญ บุญโภคัย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบุรี

อนึ่ง การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นและใช้ประโยชน์จากทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบุรี อันเป็นมรดกที่ทรงคุณค่าของประเทศ โดยการให้ความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัย ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัย ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากร ในการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา เพื่อเตรียมพัฒนาเป็น ผู้นำท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรี ในอนาคตต่อไป

...

ด้าน รศ.ดร.นัฐโชติ รักไทยเจริญชีพ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคณาจารย์ และรักษาราชการแทน ผู้อำนวยการวิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กับจังหวัดเพชรบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต และระบบเศรษฐกิจชุมชน ท้องถิ่น ทุนทางวัฒนธรรม การพัฒนาการศึกษา ที่สามารถพึ่งพาตนเอง มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งสังคม ผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ระบบการศึกษา อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนาและการจัดการโดยชุมชนท้องถิ่นให้ครบวงจรมากที่สุด มีการจัดการทางด้านการศึกษา การพัฒนาการท่องเที่ยว การผลิตพื้นฐาน การแปรรูป การบริการ การผลิตอาหารและความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ สำหรับคนในพื้นที่อย่างพอเพียง และพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือเป็นธุรกิจชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในพื้นที่

ขณะที่ ดร.ดนุช ตันเทอเฝดทิตย์ เลขาฯ รมว.อว. เผยว่า สำหรับการลงนามครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างศักยภาพด้านการศึกษา บริการวิชาการ วิจัย ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชน ระบบการศึกษา การใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาการท่องเที่ยว พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดการธุรกิจ และขยายโอกาสด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะประสานความร่วมมือในอนาคตต่อไป

ชมผลงานการพัฒนาท้องถิ่นของ มทร.พระนคร ในโครงการ U2T จำนวน 21 ตำบล ในงานพระนครคีรี ระหว่าง 17-26 มีนาคม ศกนี้ ณ บริเวณเขาวัง จังหวัดเพชรบุรี