มรภ.ราชนครินทร์ พร้อมงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ตอบโจทย์การพัฒนาท้องถิ่นและประเทศอย่างยั่งยืน และช่วยให้ชุมชนเกิดความตื่นตัว เห็นความสำคัญการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ


เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 66 รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ได้จัดงาน RRU OPEN HOUSE 2023 และตลาดวิจัย ขึ้นเมื่อวันที่ 16-17 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา โดยมี นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผวจ.ฉะเชิงเทรา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ภายในงานมีการจัดบูธแสดงผลงานวิจัยเด่นของ 5 คณะ และอีก 11 ศูนย์/สำนัก พร้อมบูธแนะนำ "คณะพยาบาลศาสตร์" ซึ่งคณะเปิดใหม่ พร้อมมอบโล่รางวัลให้กับนักวิจัยดีเด่น รวมทั้งการออกร้านจำหน่ายสินค้าดีจากชุมชน ที่มหาวิทยาลัยฯ ได้ลงไปทำงานวิจัยด้วย เพื่อให้คนฉะเชิงเทราและสังคมได้รับรู้ถึงศักยภาพในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ซึ่งพร้อมเป็นกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาจากท้องถิ่นสู่การพัฒนาประเทศชาติ

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ เป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ของสังคม ชุมชน ท้องถิ่น โดยปวารณาตัวเองให้เป็น "มหาวิทยาลัยชั้นนำรับใช้สังคมภาคตะวันออก" และได้กำหนดกรอบงานวิจัยให้สอดคล้องกับนโยบายระดับประเทศ แผนพัฒนาพื้นที่ EEC และแผนพัฒนา จ.ฉะเชิงเทรา ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาไปได้ก็คือ ศักยภาพของกำลังคน ทั้งศักยภาพของผู้นำชุมชน ศักยภาพของประชาชน และศักยภาพของเยาวชน เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยจึงเป็นจุดเชื่อมต่อการเติมความรู้ให้มีศักยภาพ และต้องพัฒนาให้กลุ่มคนเหล่านี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถพัฒนา จ.ฉะเชิงเทรา ให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไปได้

...

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้เน้นสร้างระบบแนวคิดใหม่ให้กับอาจารย์ นักศึกษา และพัฒนาสมรรถนะร่วมกัน ผ่านงานบริการวิชาการ และการดำเนินงานโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ นอกจากนี้ยังร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายต่างๆ ใน จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยแบ่งกระบวนการพัฒนางานวิจัยออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำ คือ การระดมสมองร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประเด็นวิจัยที่ตอบโจทย์ และอิงกับความต้องการเชิงพื้นที่ รวมถึงแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาชาติ

ส่วนกลางน้ำ คือ การติดตามหนุนเสริมจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ จากภาคีหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ภายนอก เพื่อสะท้อนภาพการทำงาน รวมทั้งให้คำชี้แนะกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ ให้ผลิตงานวิจัยได้ตรงตามกรอบที่วางไว้ และใช้ประโยชน์ได้จริง และปลายน้ำ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การตีพิมพ์เผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยผ่านบทความวิชาการ ทั้งในระดับชาติหรือนานาชาติ เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับประชาชน และ 2.เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ หรือผลกระทบทางบวก เช่น คนในพื้นที่วิจัยเกิดรายได้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 15% หรือสังคมน่าอยู่มากขึ้น ชุมชนมีภาคีเครือข่ายที่เน้นแฟ้นมากขึ้น

"การพัฒนางานวิจัยไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เท่านั้นที่เข้มแข็ง แต่งานวิจัยยังช่วยให้คนในชุมชนเกิดความตื่นตัว เห็นความสำคัญกับการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่นำไปสู่การสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น" รศ.ดร.ดวงพร กล่าว.