“งานหัตถกรรมกลุ่มโอทอป อ.ประจันต คาม จ.ปราจีนบุรี จะมีกลุ่มหมู่บ้านที่ทำหัตถกรรมจักสาน อย่างการทำสุ่มไก่ เสื่อลำแพนและงานไม้ต่างๆ จะมีขยะ ของเสียที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตมากมาย เช่น เศษไผ่ ท้องไผ่ เศษเส้นตอกที่ไม่ได้คุณภาพ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเลือกกำจัดด้วยวิธีการเผาทำลาย ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

และกลุ่มที่มีเศษไผ่เหลือทิ้งมากที่สุดคือสุ่มไก่ เพราะว่ากลุ่มสุ่มไก่ใช้ผิวไผ่ ส่วนท้องไผ่จะไม่ได้ใช้งานจึงมีเศษไผ่เหลือทิ้งเยอะที่สุด รองลงมาคืองานจักสานของเสื่อลำแพน ซึ่งต้องทำให้ผิวเรียบจึงมักมีเศษเส้นตอกเล็กๆจำนวนมากที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก และด้วยวิถีชาวบ้านที่ใช้เวลาว่างรวมกลุ่มกันทำงานหัตถกรรมเหล่านี้ทำให้เศษไผ่เหลือทิ้งจากงานหัตถกรรมมีมากถึงวันละ 10 กิโลกรัม”

ผศ.สุนีย์ หทัยวสีวงศ์ คณะวิศวกรรม ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) หัวหน้าทีมวิจัย บอกถึงที่มาของผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากเศษไผ่เหลือทิ้ง ซึ่งได้ขอรับการจดยื่นอนุสิทธิบัตร จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

...

เมื่อทีมวิจัยอันประกอบด้วย ผศ.สุนีย์, ดร.นารีรัตน์ จริยะปัญญา และ อ.จักรกฤษณ์ พุ่มเฟือง เล็งเห็นว่าเศษไผ่เหลือทิ้งสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทรายแมวได้ จึงเริ่มกระบวนการทำทรายแมว เข้าไปคุยกับชาวบ้านก่อนว่าหากทำงานหัตถกรรมให้ใช้แผ่นพลาสติกรองเศษไผ่เอาไว้ เพื่อจะได้ง่ายต่อการเก็บเศษไผ่เหลือทิ้ง

จากนั้นมาตัดให้สั้นลง นำไปแช่โซดาไฟเพื่อทำให้เนื้อเยื่อไผ่ฟู แล้วนำมาล้างให้สะอาด จากนั้นนำมาปั่น เมื่อได้เป็นเยื่อไผ่ นำมาตากให้แห้ง แล้วจึงนำไปปั่นให้เป็นผงละเอียดอีกครั้ง

“เสร็จแล้วเราถึงจะนำมาผสมกับแป้งกาว ใช้อัตรา ส่วนแป้งกาว 1 ส่วนต่อเยื่อไผ่ 5 ส่วน ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องพิจารณาว่าส่วนผสมหมาดพอที่จะสามารถอัดเป็นเม็ดได้หรือไม่ และเมื่ออัดเม็ดเสร็จแล้ว นำมาตากแห้งหรืออบให้แห้งสนิท”

ผศ.สุนีย์ บอกว่า ต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นในด้านการดูดซับน้ำได้ดี มีฝุ่นน้อย น้ำหนักเบา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำจัดทิ้งได้ง่าย สามารถทิ้งลงไปในชักโครกได้เพราะไม่มีส่วนผสมที่เป็นสารเคมี และสามารถใช้เป็นปุ๋ยได้เพราะทรายแมวสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

และการทดสอบความสามารถในการดูดซับน้ำ เปรียบเทียบกับทรายแมวที่ผลิตจากไม้สนและผลิตจากซังข้าวโพด พบว่า ไม่ต่างกัน ใกล้เคียงกับทรายแมวที่มีจัดจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่มีราคาขายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 34 บาท

ขณะที่ทรายแมวจากเยื่อไผ่มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยแค่ลิตรละ 10 บาท ที่สามารถสร้างราคาขายได้ลิตรละ 30-35 บาท และหากนำไปแบ่งบรรจุถุงเพื่อจำหน่าย ถุงละ 5 ลิตร สามารถขายได้ถุงละ 150-180 บาท ขณะที่ต้นทุนทรายแมวจากเยื่อไผ่อยู่ที่ถุงละ 50 บาท

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โทร.0-2549-3450.

แทมรีน ใจกล้า