ตุลาการศาลปกครองเพชรบุรี เห็นว่าคำสั่งของ ทส.ให้ปลด "ชัยวัฒน์" ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และ ป.ป.ท. โดยศาลนัดอ่านคำพิพากษา 29 ก.ย.นี้
วันที่ 22 ก.ย. 2565 ศาลปกครองเพชรบุรี นัดพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ บ 20/2565 นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้ฟ้องคดี โดยมีตุลาการผู้แถลงคดีได้สรุปสำนวนความเห็นส่วนตน แถลงต่อองค์คณะตุลาการศาลปกครองเพชรบุรี และเจ้าของสำนวนว่า
คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ได้มีคำสั่งลงวันที่ 2 เม.ย. 2564 ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดี (ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร) ออกจากราชการ โดยอาศัยมติที่ประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) วันที่ 25 ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นมติที่ประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าบทบัญญัติตามมาตรา 40 และ 41 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะเห็นได้ว่าผู้บังคับบัญชา จะพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติชี้มูลความผิดโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีกก็ต่อเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ชี้มูลว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตในภาครัฐและเป็นกรณีมีมูลความผิดทางวินัย ตามบทนิยามของคำว่าทุจริตในภาครัฐ และทุจริตต่อหน้าที่
แต่โดยที่เมื่อพิจารณารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และการวินิจฉัยชี้มูลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 นำเหตุการณ์วันที่ 5 พ.ค. - 9 พ.ค.2554 ขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำรงตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นผู้เห็นชอบโครงการอพยพชนกลุ่มน้อย หรือ "ยุทธการตะนาวศรี" ที่ผู้ฟ้องคดีได้สั่งให้ปฏิบัติการตามโครงการดังกล่าวมาประกอบเข้ากับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่ อส 4/2561 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 อาศัยเหตุผลเพียงว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ดังกล่าวปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 (ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร) ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ พ.ศ.2504 เท่านั้น
...
โดยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาให้กรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ในคดีดังกล่าวเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าผู้ฟ้องคดีได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่แต่อย่างใด อันจะต้องด้วยบทนิยามคำว่าทุจริตต่อหน้าที่ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2551 ที่หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติชี้มูลความผิดดังกล่าว ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนสามารถพิจารณาลงโทษโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งลงโทษผู้ฟ้องคดีออกจากราชการอันสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้ชี้มูลดังกล่าวโดยไม่ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 ก่อนออกคำสั่ง
จึงเห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่อไป ส่วนคำสั่งขอทุเลาการบังคับคดีให้มีผลต่อไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดี และให้มีผลของคำพิพากษาย้อนหลังไปจนถึงวันที่มีคำสั่งปลดออกจากราชการต่อไป
ด้านชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า วันนี้ตุลาการเจ้าของสำนวน ให้ผู้ฟ้องคดีแถลงด้วยวาจา และส่งเอกสาร เนื่องจากเอกสารและคำแถลงไม่ได้มีผล หรือขัดต่อคำฟ้องเดิมโดยได้แถลงในประเด็น กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ท.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 อ้างว่า ได้ไปในจุดเกิดเหตุเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2562 พร้อมกับ แยแย มีมิ หลานชายปู่คออี้ มีมิ โดยเดินเท้าไปเพียงวันเดียวนั้น ผู้ฟ้องคดีให้เหตุผลต่อศาลว่าไม่เป็นความจริง และอ้าง/นำข้อความ ภาพ ที่ไม่ถูกต้องรายงานศาล
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า จัดทำแผนที่ประกอบเส้นทางเดินเท้า และแม่น้ำเพชรบุรี พร้อมอธิบายชี้แจงว่า การเดินทางด้วยเท้าของชาวกะเหรี่ยง เดินอย่างเร็ว สามารถเดินไป-กลับ ภายใน 4 คืน 5 วัน แต่ถ้าช่วงเดือน พ.ย.ของทุกปี จะไม่มีใครสามารถข้ามแม่น้ำเพชรได้ เพราะฉะนั้นการเดินทางโดยเท้าของคณะเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ไม่สามารถทำได้ และเป็นไปไม่ได้
สำหรับประเด็นนี้ ตุลาการผู้แถลงคดีรับฟังคำแถลง และศาลปกครองเพชรบุรีเห็นว่าไม่ขัดต่อสำนวนเดิม จึงรับฟังได้ โดยข้อสรุปของตุลาการศาลปกครองเพชรบุรี เจ้าของสำนวนคดี คือ “ตุลาการศาลปกครองเพชรบุรี เห็นว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 (ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ) และที่ 3 ต่อไป ส่วนคำสั่งทุเลาการบังคับคดีให้มีผลต่อไปจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ความเห็นของตุลาการศาลปกครองเพชรบุรีผู้แถลงคดี ให้มีผลของคำพิพากษาย้อนหลังไปจนถึงวันที่มีคำสั่งปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการต่อไป
คดีนี้ ศาลปกครองเพชรบุรี นัดอ่านคำพิพากษาตัดสินคดีในวันที่ 29 ก.ย. 2565 เวลา 10.00 น.