นร.หญิงวัย 17 ปี ติดเชื้อ HIV เรียนดีแต่ยากจน อาศัยอยู่กับปู่ ต้องการเรียนต่อ ทั้งถูกบูลลี่มาทั้งชีวิต ปล่อยโฮ หลังยอดบริจาคเข้ามาเกือบล้านบาทมอบให้เป็นทุนเรียนต่อ เปิดใจ ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาช่วยเหลือ พร้อมสัญญาจะใช้เงินก้อนนี้ให้คุ้มค่าที่สุด และเกิดมายังไม่เคยเห็นเงินมากขนาดนี้

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 65 จากกรณีที่มีการนำเสนอเรื่องราวชีวิตของ นางสาวณัชนิชา ตุ้มหอม หรือน้องจ๋า อายุ 17 ปี ในพื้นที่ ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) รับเชื้อจากมารดาตั้งแต่กำเนิด พ่อติดคุก แม่เสียชีวิต อาศัยอยู่กับปู่อายุ 79 ปี ทั้งยังมีเรื่องราวชีวิตที่น่าหดหู่ โดนเพื่อนๆ ล้อเลียนมาเกือบทั้งชีวิต ใครๆ ก็ไม่อยากเข้าใกล้ แต่ก็กัดฟันอดทนมาจนตอนนี้ ซึ่งน้องมีจิตใจเมตตา จิตใจดี มีวินัย และมีความรับผิดชอบ ประกอบกับมีผลการเรียนดีได้เกรดเฉลี่ย 3 กว่า อยากเรียนต่อให้จบมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่มีเงินเรียนนั้น

ล่าสุดผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังโรงเรียนของน้องจ๋า พบน้องจ๋ากำลังนั่งทำการบ้านอยู่ในห้อง โดยมีครูที่ปรึกษา 2 คนที่เดินทางไปปรับสมุดบัญชีมาเพื่อแจ้งยอดให้กับน้องจ๋า ซึ่งผ่านไปแค่วันเดียวได้เงินเกือบ 1 ล้านบาท เป็นเงินจำนวน 948,248 บาท ซึ่งน้องจ๋าถึงกับปล่อยโฮออกมาด้วยความตื้นตันใจ ไม่คิดว่าจะมีผู้ใจบุญที่สงสารและเอ็นดูน้องจ๋าขนาดนี้

...

นางสาวณัชนิชา ตุ้มหอม เผยว่า ยอดเงินที่ได้นั้นเกินความคาดหมาย เกิดมายังไม่เคยเห็นเงินมากมายขนาดนี้มาก่อนในชีวิต ขอขอบคุณพี่นักข่าว สำนักข่าว คณะครู ทางจังหวัด ที่เข้ามาช่วยเหลือ และที่สำคัญขอบคุณเงินบริจาคจากผู้ใจบุญทุกๆ คน ทุกๆท่าน ที่บริจาคเงินเป็นทุนการศึกษา ชาตินี้ไม่มีอะไรจะตอบแทน แต่ขอสัญญาว่าจะใช้เงินก้อนนี้ที่ทุกคนช่วยบริจาคให้ดีและคุ้มค่าที่สุด ขอขอบคุณจากใจของเด็กตัวน้อยๆ ที่ได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่นี้

นางเนาวรัตน์ ศรีฉ่ำ ครูที่ปรึกษา เผยว่า เรื่องเงินบริจาค ตนเป็นผู้ควบคุมดูแลสมุดบัญชี ซึ่งไม่มีการทำบัตร ATM ทาง ผอ.ได้สั่งตั้งคณะกรรมการในสถานศึกษา และทางอำเภอ ช่วยในการเบิกจ่าย จะมีหลายส่วนที่สามารถนำออกมาได้ เช่น กรณีปรับปรุงบ้าน ค่าใช้จ่ายรายวัน รายเดือน รายปี จะครอบคลุม และเหลือให้เพียงพอในการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย อยากขอบคุณผู้ใจบุญที่ช่วยให้โอกาสแก่เด็กที่ด้อยโอกาสคนนี้

นางชุลีกร ปิ่นแก้ว ครูที่ปรึกษา เผยว่า การบูลลี่ตอนนี้ที่โรงเรียนยังไม่มีแน่นอน เพราะทางครูได้ทำความเข้าใจกับเด็กนักเรียนแล้วว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคที่จะติดต่อกันง่ายขนาดนั้น ให้ทุกคนยอมรับและเข้าใจถึงเหตุผลในการอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย และไม่สร้างความกดดันให้กับน้องจ๋า.