“อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16” หรือ “อ่างแหลมเขา” มีความจุ 1.97 ล้าน ลบ.ม.ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีสภาพเป็นกรดอย่างแรงมีค่าประมาณ 2.5-3 และมีโลหะหนักในอ่างเกินมาตรฐานทั้งทองแดง ตะกั่ว แมกนีเซียม และสังกะสี

กรณีนี้ได้มีการตรวจพบในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบันทำให้การนำน้ำจากแหล่งน้ำมาทำน้ำประปาแจกจ่ายประชาชนต้องหยุดไปทั้งหมด ประชาชนที่ตั้งอยู่โดยรอบห่างไม่เกิน 500 ม. ต้องใช้น้ำบาดาลแทน

ในปี 2565 ช่วงนี้น้ำในอ่างกำลังจะล้นตลิ่งแต่ยังมีค่าสภาพความเป็นกรดอย่างแรงถึง 3.6 ซึ่งเทียบเท่ากับ “น้ำกรดกัดเหล็ก” และ “ค่าโลหะหนัก” ก็ยังเกินค่ามาตรฐานเช่นเดิม

หากน้ำในอ่างล้นออกมาแน่นอนพืชผลทางการเกษตรและน้ำดื่มน้ำใช้ของประชาชนที่ทุกวันนี้ต้องใช้น้ำบาดาล ต้องได้รับความเสียหายและมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า “อ่างน้ำโจน” อยู่ในพื้นที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัญหาดั้งเดิมก็คือบริเวณโดยรอบนี้ถูกลักลอบเอากากของเสียอุตสาหกรรมมาทิ้งไว้อยู่เนืองๆจนทำให้น้ำในอ่างได้รับผลกระทบ

...

...มีค่า pH อยู่ที่ระดับนี้ถึงตอนนี้ต้องยอมรับว่ายังจับมือใครดมไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครเอากากของเสียมาทิ้งเอาไว้

“กากของเสียอุตสาหกรรมเป็นของเก่า เป็นปัญหาเก่าสะสมมาระยะหนึ่งแล้ว สิ่งแวดล้อมชลบุรีฯ ตรวจสอบมานานแล้วแต่ยังแก้ไม่ได้ แล้วก็ยังหาคนผิดไม่ได้ หมายความว่ามีคนลักลอบแอบมาทิ้งเอาไว้ ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษก็พยายามสืบหาว่าใครมาทิ้งไว้ ตรวจสอบอยู่”

แต่...กากของเสียที่ถูกนำมาทิ้งเอาไว้ กระทรวงอุตสาหกรรมก็นำออกไปบ้างแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ คุณภาพ “น้ำ” ยังเป็นกรดอยู่อย่างหนักมาก เข้าใจง่ายๆความเป็นกรดเข้มข้นเกือบๆจะอยู่ในระดับน้ำกรด เอาไปสาดหน้าก็สร้างความเสียหายกับผิวหนังได้เลย เพราะ pH1, 2 ก็คือน้ำกรดเข้มข้น

“น้ำทั้งอ่างทำอะไรไม่ได้เลย ใช้สอยไม่ได้ หน่วยงานก็สั่งไม่ให้ชาวบ้านใช้น้ำเพราะเป็นกรดมาก ปลาในอ่างก็ตายหมด”

เมื่อ “กรมควบคุมมลพิษ” และ “กรมชลประทาน” ตรวจพบว่ามีการลักลอบนำสารเคมีและกากของเสียอุตสาหกรรมมาฝังกลบรอบอ่างจนเกิดมีภาวะน้ำปุดขึ้นมาและเกิดการซึมลงไปปนเปื้อนน้ำในอ่าง

มีการตรวจพบสาร Mo หรือสารโมลอบดินัมในดินตั้งแต่ 10-10,000 มก./กก. ตั้งแต่ที่อ่างเก็บน้ำจนถึงบริษัท ทีเอชเอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจประเภทการผลิต และให้บริการด้านการผลิตเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ขั้นมูลฐาน ซึ่งสุดท้าย...ก็ถูกสั่งหยุดกิจการและมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ส่วนโรงงานอื่นๆที่แอบเอากากอุตสาหกรรมมาฝังกลบ ตำรวจยังติดตามไม่ได้

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์
อาจารย์สนธิ คชวัฒน์

ปัจจุบันกรมชลประทานได้พยายามฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำโดยขุดหน้าดินที่ถูกปนเปื้อนรอบอ่างลึก 30 เมตรไปกำจัดและโรยปูนขาวถึง 14 ตัน เพื่อคงสภาพความเป็นกรด-ด่างน้ำในอ่าง แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่...คนในพื้นที่ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาแบบยั่งยืน ช่วงแรกเริ่มที่เป็นข่าวใหม่ๆสื่อก็ยังติดตามเกาะติด แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปนานเข้าๆ...ปัญหาใหญ่ก็เริ่มถูกลืมเลือนจางหายไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันนี้ช่วงหน้าฝน ปริมาณน้ำสะสมมีมากขึ้นก็ยิ่งสร้างปัญหาที่น่ากังวลหนักขึ้นตามมา

...

เงื่อนไขปัญหาสำคัญ การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม อาจารย์สนธิ มองว่า ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาคือกากอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สารเคมีทั้งหลาย เวลาส่งกำจัดก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงอาจจะถึงตันละ 10,000 บาท ผ่านบริษัทกำจัดกากของเสียเฉพาะทาง

ด้วยความมักง่ายก็เลยแอบเอามาทิ้งฝังกลบเอาไว้ บริเวณที่ถูกทิ้งก็เป็นป่าไม่มีใครมา ไม่ค่อยมีคนผ่าน เอามาฝังไว้นานแล้ว...กระทั่งเกิดปัญหาขึ้นก็เลยกลายเป็นเหมือนวัวหายล้อมคอกขึ้นมา แล้วก็จับมือใครดมไม่ได้ กรมมลพิษเข้ามาตรวจสอบเจอกากของเสียพิษแล้วก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ...สาวไปถึงต้นทางลำบาก

“ต้องยอมรับความจริงที่ว่านี้ ส่วนในเหลี่ยมมิติข้อกฎหมาย การเอาผิด ...ก็มีมาตรา 96, 97 ถ้ามีแหล่งทิ้งของเสียอย่างนี้จะต้องฟ้องเรียกค่าเสียหาย แล้วก็ไปฟื้นฟู แต่ตอนนี้ปัญหาก็กลับไปสู่จุดเดิมไม่มีเจ้าของ หาต้นตอแหล่งที่มากากของเสียอุตสาหกรรมที่สร้างปัญหาให้กับคนในชุมชนแหล่งทิ้งไม่ได้”

ไม่มีจำเลยก็เลยไม่รู้จะเรียกค่าเสียหายกับใคร ทางออกเดียวก็คงจะต้องพึ่ง “หน่วยงานรัฐ” ... “รัฐบาล” จะต้องดำเนินการเข้ามาเร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสียไปให้เร็วที่สุด

...

กรมควบคุมมลพิษก็จะเอายังไง หรือกรมโรงงานต้องรับเป็นเจ้าภาพหลัก...ถ้ายังเกี่ยงกัน สภาพปัญหาก็ยังคงเรื้อรังยืดเยื้อกันต่อไปอยู่แบบนี้หรือไม่?

พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แต่ละโรงงานผลิตอะไร มีของเสียวันละเท่าไหร่ ควบคุมรายละเอียดตั้งแต่ต้นทางจะแก้ปัญหาและควบคุมได้อย่างครบวงจรไหม? คำตอบมีว่า...ทุกวันนี้ก็มีการทำรายงานที่ว่านี้เรียกว่า ใบ สก.1 สก.2 สก.3 มีของเสียเท่าไหร่? ส่งกำจัดที่ไหน?

แต่...ที่เคยได้ยินมามีว่า รายละเอียดก็แค่ตัวเลขในกระดาษ แต่ในทางปฏิบัติหากเป็นเช่นนั้นก็ดีไป แต่ถ้าไม่ตรงกันก็แย่ สมมติว่าในใบรายงานของเสีย 500 กิโลกรัม ส่งกำจัดแบบถูกต้องตรงตามมาตรฐานเป๊ะๆ

แต่ในความจริง...เป็นไปได้ไหมว่ามีของเสียออกมาจากโรงงานจริงๆ 1,000 กิโลกรัม...ส่งกำจัดแบบถูกต้องครึ่งหนึ่ง เหลืออีก 500 กิโลกรัม ก็เอาไปทิ้งแบบไร้สามัญสำนึก...แอบทิ้งไว้ในป่ารกร้างก็ตรวจสอบลำบากเข้าไปอีก

หรืออาจแย่กว่านั้น...ใบระบุ 500 กิโลกรัมจริง แต่ดันไปไม่ถึงปลายทางแอบทิ้งข้างทางไปเสียเลย...ก็กลายเป็นสร้างปัญหา โยนขี้ให้พ้นตัวเท่านั้น...สร้างทุกข์ร้อนให้กับชุมชนที่ถูกแอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรม ปัญหาสำคัญคือ “ความจริงในใบรายงาน” และ “ความจริงในการปฏิบัติ” ตรงกันหรือเปล่า?

...

ถึงตรงนี้คงต้องย้ำประเด็นความปลอดภัยของชุมชนโดยรอบแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ “ชาวบ้าน” จะรู้ถึงพิษภัยใกล้ตัวมากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญก็คือหน่วยงานรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องช่วยกันบอกกล่าวประชาสัมพันธ์เป็นวงกว้าง ซึ่งมีการประกาศไปแล้ว แต่ชาวบ้านก็เดือดร้อนใช้ประโยชน์ไม่ได้

ภาพสะท้อนที่เกิดขึ้น...คนในพื้นที่เดือดร้อน ทนไม่ได้ก็เลยไปวัดค่า pH ให้ดูกันชัดๆเลยว่าอยู่ที่ระดับ 3.6 น้ำในอ่างถ้าล้นจะไหลไปลงไร่นาชาวบ้าน แม้ว่าจะเจือจาง แต่ก็สร้างความเสียหายได้มากมายมหาศาล

การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมยังมีอีกมาก ซึ่งกรมโรงงานและกรมควบคุมมลพิษตามตรวจจับค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่เกิดเหตุแล้วจึงเข้าแก้ไข อาจารย์สนธิ ฝากทิ้งท้ายว่า หากจะป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมและสารเคมีควรต้องกระจายความรับผิดชอบให้ท้องถิ่นเช่น อบต., เทศบาลตำบล ในการเฝ้าระวัง

โดยแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องกระจายทั้งงบประมาณ อำนาจและหน้าที่พร้อมขอความร่วมมือประชาชนให้เป็นหูเป็นตาหรือ watchdog ให้ส่วนราชการด้วย นอกจากนี้ การตั้งโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงและมีสารเคมีอันตรายควรกำหนดให้ตั้งได้เฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น.