ใต้ร่มเงาไม้ปลายแหลมสุดหลังวัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน มีเก้าอี้ให้นั่ง ตรงหน้าและด้านขวา แม่น้ำเจ้าพระยาใหญ่กว้างเรือโยงขบวนยาวขึ้นล่องผ่าน ตัดทางแพขนานยนต์ที่บรรทุกรถยนต์ข้ามฟาก

ด้านซ้าย เป็นปากคลอง...ที่เราเพิ่งนั่งกระเช้าข้ามจากฝั่งวังมาฝั่งวัด

ไม่ว่าจะมองไปทางไหน ตรงหน้า ขวา หรือซ้าย ก็เห็นแต่น้ำ ผมไม่แน่ใจ จุดที่นั่งรื่นรมย์ชมแม่น้ำ ตรงไหน เป็นจุดเริ่มต้นการแข่งเรือหลวง...สมัยสมเด็จพระนาราย์มหาราช กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา

ในหนังสือจดหมายเหตุรายวันของบาทหลวงเดอชัวสี ผู้ช่วยราชทูตพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2228 กล่าวถึงการแข่งเรือหลวงไว้ตอนหนึ่ง

(เกร็ดโบราณคดี ประวัติศาสตร์ไทย ส.พลายน้อย สำนักพิมพ์รวมสาส์น พ.ศ.2539)

เรือพระที่นั่งนั้น วิจิตรรจนาสง่างามยิ่งนัก มีฝีพายประจำเรือ 150 คน ถือพายปิดทองทุกคน พระเจ้ากรุงสยามทรงเครื่องฉลองพระองค์ล้วนแล้วไปด้วยเพชรพลอย ฝีพายเรือใส่เสื้อและสวมหมวกสีทอง เครื่องประดับก็ปิดทอง

ข้าพเจ้าจะพรรณนาให้ท่านฟังว่า พยุหโดยชลมารคครั้งนี้ เป็นพิธีอะไรกันแน่

พระเจ้ากรุงสยามเสด็จประทับทรงสำราญพระอิริยาบถ ณ ตำหนักที่พักแห่งหนึ่ง (บางนางอิน ที่เรียกกัน เดี๋ยวนี้ว่าบางปะอิน) และเสวยพระกระยาหารที่พระตำหนักนั้น

พอเสวยแล้วก็โปรดให้เรือขุนนางที่มียศเสมอกันเข้าเทียบกันเป็นคู่ๆ พายแข่งกันกลับไปยังกรุง ถ้าเรือลำไหนถึงตำหนักน้ำที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยาก่อน ก็ได้รับพระราชทานรางวัลอย่างงาม

การแข่งเรือนี้ เป็นสิ่งที่น่าดูมาก ฝีพายทุกคนมีความชำนิชำนาญพายเรือแคล่วคล่องว่องไวยิ่งนัก

และการแข่งเรือครั้งนี้ ฝีพายต้องพายเรือทวนน้ำไปตามลำแม่น้ำใหญ่ เรือพระที่นั่งทรงของพระเจ้ากรุงสยามถึงก่อน ฝีพายจึงได้รับพระราชทานรางวัลคนละ 1 ชั่ง...

...

(ผมอ่านบันทึกตอนต้นก็เข้าใจว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงจัดให้พวกขุนนางแข่งเรือ...แต่ตอนท้าย จึงได้ความว่า เรือพระเจ้าแผ่นดินเอง ก็เข้าแข่งด้วย)

ส.พลายน้อย ตั้งข้อสังเกตว่า บาทหลวงเดอชัวสี เขียนเรื่องแข่งเรือหลวง ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูน้ำ เป็นข้อสนับสนุนว่า กษัตริย์สมัยโบราณทรงนิยมเรื่องแข่งเรือเอาสนุกมาก

แม้ในบางกรณี จะเป็นการแข่งเรือเพื่อเสี่ยงทาย

กฎหมายโบราณ มีพระราชกำหนดว่า...เดือน 11 การอาษยุชพิธี มีโหม่งครุ่มซ้ายขวา ระบำ มโหระทึก อินทรเภรี ดนตรี เช้าทรงพระมหามงกุฎราชาประโภค กลางวันทรงพระสุวรรณมาลา เย็นทรงพระมาลาสุกหร่ำสพักชมพู

สมเด็จพระอัครมเหสี พระภรรยา ทรงพระสุวรรณมาลา นุ่งแพรดารากร ทรงเสื้อ พระอัครชายาทรงพระมาลาราบ นุ่งแพรลายทอง ทรงเสื้อ พระสนมใส่สนองเกล้าสพักสองบ่า

สมรรถไชยเรือต้น (ของพระเจ้าอยู่หัว) ไกรสรมุขเรือสมเด็จพระอัครมเหสี

สมรรถไชย ไกรสรมุขนั้น เป็นเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซร้ ข้าวเหลือเกลืออิ่ม สุขเกษมเปรมประชา

ถ้าสมรรถไชยชนะไซร้ จะมียุค

ส.พลายน้อย อธิบาย การแข่งเรือเสี่ยงทาย...เป็นการปลอบขวัญประชาชน ถ้าเรือไกรสรมุขชนะ มีความเชื่อกันมาแต่เดิมว่า ข้าวจะได้มาก จะอุดมสมบูรณ์ ผู้คนจะดีอกดีใจ

นอกจากนี้ การที่ให้เรือสมรรถไชยแพ้...เป็นการแสดงความเป็นสุภาพบุรุษของพระเจ้าอยู่หัวอีกอย่างหนึ่ง

ผมอ่านถึงตรงนี้จึงคิดได้ เจ้านายเราแต่โบราณ ท่านมี “มุก” หรือ “กุศโลบาย” ลึกซึ้งแยบคายนัก จึงรักษาแผ่นดินรอดมาให้ลูกหลานรุ่นเราๆได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุขกันถึงทุกวันนี้.

กิเลน ประลองเชิง