กลุ่มลูกค้าบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นรวมตัวปรึกษาทนายความเตรียมดำเนินคดีกับผู้บริหารร้าน “DARUMA SUSHI” ปิดกิจการเทลูกค้า หลังซื้อคูปองบุฟเฟต์ราคาถูกเก็บไว้จำนวนมากแล้วไม่ออกมารับผิดชอบ ทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนดีลเลอร์ที่ซื้อแฟรนไชส์แจงไม่มีส่วนในการบริหาร จะได้รับเงินปันผลเป็นรายเดือนเท่านั้น เตรียมรวมตัวแจ้งความเหมือนกัน ขณะที่เพจ สคบ.โพสต์แจ้งเตือนผู้บริโภคให้ระวังอย่าซื้อ Voucher อาจตกเป็นเหยื่อ

กลุ่มลูกค้ารวมตัวโวยผู้บริหารร้าน “DARUMA SUSHI” (ดารุมะ ซูชิ) ปิดกิจการลอยแพลูกค้าที่ซื้อคูปองโปรโมชันรายนี้เปิดเผยเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 19 มิ.ย. ที่สำนักงานทนายความรัชพล ศิริสาคร ซอยประชาราษฎร์ 5 ต.ตลาดขวัญ อ.เมืองนนทบุรี กลุ่มผู้เสียหายรวม 10 คน เป็นลูกค้าซื้อคูปอง (E-Voucher) ของร้าน DARUMA SUSHI เป็นร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น นำหลักฐานไปขอความช่วยเหลือจากนายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ ภายหลังร้านดังกล่าวเปิดอยู่ 27 สาขาในห้างดังต่างๆ ประกาศปิดปรับปรุงอย่างไม่มีกำหนด อ้างว่าแก้ไขระบบเซิร์ฟเวอร์ อีกทั้งเพจเฟซบุ๊กของร้านยังปิดไปแล้ว และเก็บข้าวของบางส่วนไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้ลูกค้าที่ซื้อคูปองล่วงหน้าในราคาใบละ 199 บาทจำนวนหลายใบ เกิดความกังวลใจว่าจะสูญเงิน เรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในเพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มคนรักบุฟเฟต์” หวั่นซ้ำรอยร้าน “แหลมเกต” เป็นบุฟเฟต์ซีฟู้ดที่หลอกขาย Voucher จากนั้นปิดตัวไม่รับผิดชอบ กระทั่งลูกค้าแจ้งดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว

น.ส.จิรัชยา ศุภการนิมิต อายุ 25 ปี 1 ในผู้เสียหายเปิดเผยว่า ตนเป็นทั้งลูกค้าและเป็นผู้ที่จำหน่ายคูปองให้กับลูกค้าทั่วไป มองว่าธุรกิจนี้เป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวจึงนำเงินไปลงทุนซื้อคูปองของร้าน DARUMA SUSHI จำนวน 2,628 ใบ ราคาใบละ 212.93 บาท รวมเป็นเงิน 559,380 บาท จากนั้นนำไปขายให้กับลูกค้าในเพจของตนราคาใบละ 240 บาท จะได้กำไรใบละ 27 บาท หากลูกค้าไปซื้อทางร้านจะได้ราคาใบละ 299 บาท ตนทำธุรกิจนี้มาแล้วกว่า 2 ปี ทำให้มีรายได้พอเจือจุนครอบครัว แต่ภายหลังมารู้ข่าวว่าร้านปิดตัวเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ประสานไปทางลูกค้าที่ซื้อคูปองจากตนเพื่อจะโอนเงินคืน และมาปรึกษากับทนายรัชพลเพื่อหาทางเอาผิดกับเจ้าของร้าน จากนั้นวันที่ 20 มิ.ย. จะรวมตัวผู้เสียหายไปแจ้งความที่ บก.ปคบ.

...

ด้านนายปรัชญิล แสงวัฒน์ ผู้เสียหายในส่วนของลูกค้ากล่าวว่า ตนเป็นลูกค้าประจำของร้านนี้ ช่วงแรกเห็นทางเพจของร้านประกาศราคาบุฟเฟต์แซลมอน 199 บาท ไปลองกินดูปรากฏว่าวัตถุดิบที่เขานำมาขายเป็นแซลมอนอย่างดี รู้สึกดีกับร้านนี้มากจะติดตามคอยซื้อคูปองมาตลอด พนักงานร้านจะมีข้อบังคับให้ซื้อคนละไม่เกิน 5 ใบ ตนสูญเงินไปไม่มากเพราะเป็นเพียงลูกค้าที่ไปนั่งกินที่ร้าน ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจอย่างคนอื่น

ขณะที่นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ กล่าวว่า ผู้เสียหายมีทั้งลูกค้าที่ซื้อคูปองและผู้ที่ทำธุรกิจกับร้าน DARUMA SUSHI เข้ามาขอคำปรึกษาเพื่อจะหาช่องทางด้านกฎหมายเอาผิดกับเจ้าของร้านเรื่องนี้ผู้เสียหายต้องแจ้งความถึงจะสามารถดำเนินคดีได้ มีหลายช่องทางที่ดำเนินคดีแพ่ง ส่วนคดีอาญาต้องมาดูที่เจตนาของเจ้าของร้านเสียก่อนว่า มีเจตนาที่จะฉ้อโกงประชาชนและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่

ขณะเดียวกันผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Krittharawee Arys Pichitpongchai” หนึ่งในดีลเลอร์ที่ซื้อแฟรนไชส์ร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นชื่อดังมาเปิดบริการ ออกมาระบุข้อความว่า “ขออนุญาตชี้แจง เรื่องร้าน DARUMA SUSHI ตนได้ซื้อแฟรนไชส์มาจากคุณเมธา ชลิงสุข ทั้งหมด 6 สาขา ในขณะนี้ตนและเจ้าของสาขาต่างๆ อีก 10 กว่า เป็นผู้เสียหายรวมตัวกันรวบรวมหลักฐานทั้งหมดเพื่อเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อบริษัท DARUMA SUSHI และผู้บริหาร โดยตนและผู้เสียหายที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์เพื่อเปิดสาขา มีบริษัท DARUMA SUSHI เป็นผู้บริหารจัดการและเป็นคนดูแลบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว และจะปันผลเป็นรายเดือนให้แก่ผู้ลงทุน การจัดโปรโมชันต่างๆ เป็นการดำเนินการโดยผู้บริหารบริษัท ทางผู้ลงทุนไม่มีส่วนในการบริหารจัดการ ณ เวลานี้กลุ่มผู้ลงทุนพยายามติดต่อผู้บริหารบริษัทเพื่อรอฟังคำชี้แจง”

นอกจากนี้ เพจสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภคโพสต์แจ้งเตือนว่า กรณีร้านบุฟเฟต์ DARUMA SUSHI เปิดขายวอชเชอร์ (E-Voucher) ในราคา หัวละ 199 บาท ผู้บริโภคโปรดระวัง ขณะนี้ยังปรากฏว่า มีการโฆษณาขาย E-Voucher ของร้าน DARUMA SUSHI ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ หากผู้ประกอบการ หรือผู้โฆษณารายใดจัดทำการโฆษณาอาจมีความผิด ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และ สคบ.จะดำเนินการ ตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดต่อไป ทั้งนี้ หากผู้บริโภค ได้รับความเสียหายจากการซื้อ Voucher ดังกล่าวร้องเรียนที่แอปพลิเคชัน OCPB Connect รวมทั้ง https://complaint.ocpb.go.th/ตลอด 24 ชั่วโมง

จากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท ดารุมะ ซูชิ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2559 ดำเนินธุรกิจให้บริการร้านอาหาร มีนายเมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการบริษัท ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ต่อมาเปิดบริษัท ดารุมะ ซูชิ โก จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2565 ปรากฏรายชื่อนายเมธา ชลิงสุข เป็นกรรมการบริษัท แจ้งดำเนินธุรกิจประกอบกิจการร้านอาหาร เครื่องดื่ม และจำหน่าย รวมทั้งบริการจัดส่งอาหารและเครื่องดื่มทุกวัน ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ไม่มีแจ้งผลประกอบการแต่อย่างใด

ต่อมาเวลา 16.30 น. วันเดียวกัน น.ส.จุฑามาศ เทียนสว่าง อายุ 40 ปี พร้อมผู้เสียหายอีก 10 ราย เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.สุทิน พุ่มพวง รอง ผกก. (สอบสวน) สภ.สำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ ภายหลังซื้อคูปองบุฟเฟต์ร้านดารุมะ ซูชิ ราคา 199 บาท แต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้เพราะร้านปิดกิจการ ให้ดำเนินคดีกับเจ้าของแฟรนไชส์และคนขายแฟรนไชส์ น.ส.จุฑามาศเปิดเผยว่า ตนซื้อคูปองร้านอาหารญี่ปุ่นผ่านแอปพลิเคชันในราคา 199 บาท โดยคูปองมีอายุประมาณ 6 เดือน ผู้เสียหายทุกคนโดนกันไปไม่ต่ำกว่า 5 ใบ แต่ภายหลังร้านปิดทุกสาขา พยายามโทร.ไปทุกสาขาก็ติดต่อไม่ได้เช่นกัน จึงรวมกันมาแจ้งความเพื่อดำเนินคดี

...