"แม่แตงโม" รับเงินเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรม 1.1 แสนบาท ด้านเลขาฯ รมว.ยุติธรรม เมินปม "อัจฉริยะ" ลั่นปิดประตูตายดีเอสไอ บอกตัวเองเป็นคนถือลูกกุญแจยื่นให้แม่ ชี้ เขาปิด แต่แม่ไม่ได้ปิด

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ กระทรวงยุติธรรม นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน แม่ของแตงโม พร้อมด้วย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคดีแตงโม น.ส.ภคอร จันทรคณา รองหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ในฐานะผู้ดูแลนางภนิดา และคณะ ได้เดินทางมารับมอบเงินเยียวยาในกรณีช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จากการเสียชีวิตของนักแสดงสาวแตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ บุตรสาวของนางภนิดา โดยภายหลังนางภนิดาได้เข้าร่วมพูดคุยกับ ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขาฯ รมว.ยุติธรรม เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง จากนั้นได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่มาติดตามรอทำข่าว

นางภนิดา เปิดเผยว่า แม่ขอขอบคุณท่านเลขาฯ ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ และท่านรัฐมนตรีสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพราะไม่เคยคิดเลยว่ากระทรวงยุติธรรมจะช่วยประชาชนอย่างเราได้ คือเราไม่รู้จักเลย โดยตอนที่ตนเดือดร้อน ก็ไม่ทราบว่าจะไปพึ่งใคร แต่ก็ได้มีเจ้าหน้าที่สามคนไปหาตนที่บ้าน โดยแจ้งว่ามาจากกระทรวงยุติธรรม และก็ตามตนมาตลอด อยากจะช่วยเหลือ โดยตนก็ได้กรอกเอกสารเยอะมาก สุดท้ายก็มาถึงวันนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ ก็ไม่คิดว่าจะได้รับในวันนี้ด้วย ไม่เคยคิดว่าจะมีวันนี้ จนสุดท้ายก็ได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงยุติธรรม ต้องขอขอบคุณจริงๆ

...

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่คุณแตงโมเสียชีวิตช่วง 2 วันแรก ทางท่านรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้ยุติธรรม จ.นนทบุรี เข้าไปดูแลในเรื่องของการเสียชีวิต อาทิ ในเรื่องของดูแลสิทธิประโยชน์ที่คุณแม่แตงโมจะได้รับ และในวันนี้นางภนิดา (แม่ของคุณแตงโม) ก็ได้เดินทางมารับเงินเยียวยา ซึ่งก็เป็นสิทธิของประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย หากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ก็จะได้รับเงินเยียวยาตามรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐไม่สามารถดูแลชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ก็จะเยียวยาออกมาเป็นเงิน และในฐานะที่คุณแม่แตงโมเป็นผู้เสียหาย ก็เข้ามาที่กระทรวงยุติธรรมขอรับเงินเยียวยา โดยมีนายมงคลกิตติ์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ และคณะมารับเงินเยียวยาดังกล่าว ซึ่งทางเราก็ได้มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เลขาฯ รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า ส่วนในเรื่องของการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็ได้มีการอธิบายขั้นตอนการทำงานให้รับทราบแล้ว ตนก็ขอแสดงความเสียใจกับคุณแม่อีกครั้ง เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ตนได้มีโอกาสพบกับคุณแม่แตงโม และตนก็ได้เรียนให้คุณแม่ตั้งแต่เเล้วว่ากระทรวงยุติธรรมได้เข้ามาดูแลเรื่องคดีนี้ตั้งแต่ต้น แต่อาจจะเป็นเรื่องของการขาดความต่อเนื่องสักเล็กน้อย แต่คุณแม่ก็เข้าใจ เพราะจริงๆ แล้วคุณแม่ก็ได้มีตัวแทนมายื่นเรื่องไว้ตั้งแต่ช่วงคุณแตงโมเสียชีวิตแรกๆ ซึ่งภาพรวมก็ได้อธิบายขั้นตอนการทำงานให้ทั้งคุณแม่และ ส.ส.เต้ รับทราบเเล้วว่ากระทรวงยุติธรรมมีการดำเนินงานอย่างไร

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เผยอีกว่า อย่างไรก็ตามมันต้องมีข้อสรุปบทจบของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการกระทำโดยประมาทฯ หรือเป็นเรื่องของฆาตกรรมก็ตาม มันต้องมีบทสรุปเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจและคลายข้อสงสัยในเรื่องนี้ หากผู้ใดมีข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคดี สามารถส่งให้กระทรวงยุติธรรมได้ เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ยังรับหน้าที่การสืบสวนเรื่องนี้ และถ้าคุณแม่อยากให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำอะไรก็ขอให้จัดทำหนังสือยื่นเข้ามา ก็จะดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนให้ โดยการดำเนินการต่างๆ ก็จะไม่ไปก้าวล่วงการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือทางอัยการ

"ยืนยันว่า การมอบเงินเยียวยาในวันนี้ไม่มีผลต่อทางคดี เพราะเป็นเงินในกรณีตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนค่าทดแทนค่าเสียหาย เพราะว่าแตงโมเป็นผู้เสียชีวิต และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด จึงไม่ผูกพันในเรื่องของคดี และเงินส่วนนี้ไม่ใช่เงินเยียวยาจากคู่กรณีแต่อย่างใด เป็นเงินที่ต้องได้รับตามกฎหมายอยู่แล้ว โดยเงินจำนวน 110,000 บาทนี้ ประกอบด้วย ค่าเสียชีวิต 50,000 บาท ค่าปลงศพ 20,000 บาท และค่าประโยชน์อื่นๆ อีก 40,000 บาท อันนี้เป็นสิทธิ์ เหมือนกับกรณีที่มีคนไปกราดยิงในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งจนมีคนเสียชีวิต กรณีนี้ผู้เสียชีวิตก็ได้รับสิทธินี้เช่นเดียวกัน" เลขาฯ รมว.ยุติธรรม กล่าว

...

ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ กล่าวถึงความคืบหน้าทางคดีภายใต้กรมสอบสวนคดีพิเศษว่า ทางพนักงานสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ได้มีข้อสงสัย อย่างเรื่องจุดจีพีเอสที่เขายังมีข้อสงสัย แล้วก็ได้มีการไปดูพื้นที่ ดูเรื่องกล้องวงจรปิดตามที่นายอัจฉริยะร้องขอมาประมาณ 6 ประเด็น ซึ่งเรื่องที่นายอัจฉริยะยื่นมาเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นปลายเดือน เวลาประมาณเดือนเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องมา ก็ดำเนินการตามนั้น แต่จากนี้ไปก็คิดว่าถ้าจะให้มันสมบูรณ์แบบมากขึ้น ก็ต้องให้คุณแม่เป็นคนมายื่น ในฐานะที่คุณแม่เป็นผู้เสียหาย จะได้ทำงานได้ง่ายขึ้น โดยการจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ผู้กับพยานหลักฐานด้วย ถ้าคุณแม่มีก็ส่งมา คุณเต้ หรือใครมีก็ขอให้ส่งมา หรือคุณแม่จะใช้สิทธิในการฟ้องเองแล้วเอาผลการสืบสวนไปประกอบในการฟ้องคดีก็ทำได้ ไม่ผิดอะไร

เลขาฯ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ทั้งนี้ ได้มีการเรียกสอบคนบนเรือหมดแล้ว แล้วก็ได้มีการเชิญคุณอัจฉริยะมา แต่ก็ไม่มา เลยฝากทาง ส.ส.เต้ไปบอกที่ปรึกษาด้วยว่าให้ใจเย็นๆ กรณีที่คุณอัจฉริยะระบุว่าปิดประตูตายกับทางดีเอสไอแล้วนั้น ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เผยว่า เขาปิดประตูแต่ตนคือคนมีลูกกุญเเจ ตนก็ให้คุณแม่เป็นคนเปิด คือการจะใช้สิทธิ ก็เป็นสิทธิของประชาชนอยู่แล้ว อยากใช้บริการหน่วยงานของรัฐก็เดินเข้ามา แต่ถ้าเขาบอกว่าเขาจะปิดประตู ก็เป็นสิทธิของเขา แต่ถามคุณแม่แล้วคุณแม่ก็ไม่ได้ปิดประตู

ขณะที่ นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า สำหรับการปิดประตูตายกับทางดีเอสไอของนายอัจฉริยะ ว่า กระทรวงยุติธรรมเขามีหลายส่วนที่มีอุปกรณ์ในการรับรองพยานหลักฐานต่างๆ ที่จะทำให้เกิดความรอบคอบในทางคดีมากขึ้น ตนมองว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และแตงโมได้รับความยุติธรรม นี่คือเป้าหมายหลักสำคัญ

...

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ความแตกต่างระหว่างแม่แตงโมและนายอัจฉริยะยื่นเรื่องกับดีเอสไอนั้นต่างกันอย่างไร ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เผยว่า คุณแม่เป็นผู้เสียหายโดยตรง ป.วิอาญา ให้ผู้เสียหายโดยตรงเป็นเงื่อนไขที่ง่ายที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณอัจฉริยะทำไม่ได้ แต่ความสมบูรณ์ของคดีความต้องเป็นผู้เสียหาย และถ้าคุณแม่ฟ้องเองก็สามารถใช้หลักฐานต่างๆ ที่คุณอัจฉริยะยื่นไว้ก่อนได้

นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ. ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ทั้งนี้ หากบุคคลใดตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย โดยการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีสิทธิได้รับการเยียวยา ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) และส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือติดต่อที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77.