การทำนาปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมของไทยมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ...เนื่องจากการขังน้ำในนาข้าวในพื้นที่เขตนาชลประทาน ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า
การขาดแรงจูงใจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรไทยไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมไปสู่การผลิตข้าวแบบใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน
ฉะนั้นโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือไทย ไรซ์ นามา จึงเกิดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) โดยมีการลงนามเอ็มโอยูกันไปเมื่อวันก่อน ณ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี จ.ปทุมธานี
ภายใต้มาตรการ “3 เพิ่ม 3 ลด” คือ เพิ่มผลผลิตข้าว เพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและภาวะโลกร้อน
มุ่งเน้นเดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อย ให้เข้าถึงเทคโนโลยีการทำนาลดโลกร้อน ด้วยเทคโนโลยี 4 ป. คือ ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ เปียกสลับแห้ง ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และแปร สภาพฟางและตอซังข้าว
และเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ ธ.ก.ส.จึงได้ชูมาตรการคนละครึ่ง สนับสนุนทางการเงิน 2 รูปแบบ แพ็กเกจ 1 หากเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้รับการอนุมัติ จะได้รับเงินอุดหนุน 50% พร้อมกับ เงินทุนหมุนเวียนอีก 50% รวมสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาทต่อไร่
โปร 2 สำหรับผู้ให้บริการทางการเกษตร เพื่อจัดซื้อชุดอุปกรณ์ปรับหน้าดินด้วยระบบเลเซอร์ (LLL) จะได้เงินอุดหนุน 50% ของราคาชุดอุปกรณ์ แต่ไม่เกินรายละ 200,000 บาท พร้อมกันนี้ผู้ที่สนใจร่วมเป็นผู้ให้บริการปรับ LLL ยังสามารถขอรับการอบรมที่โครงการฯ ได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
...
ทั้งนี้ เบื้องต้นวางเป้าส่งเสริมเกษตรกรใน 6 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี จำนวน 100,000 ครัวเรือน ให้รู้จักการทำนาที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อน ก่อนขยายสู่พื้นที่อื่นต่อไป.
สะ-เล-เต