พื้นที่ อ.บ่อพลอย อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.หนองปรือ และ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี มักประสบ ปัญหาแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำมาอย่างยาวนาน จนได้รับการขนานนาม ว่าเป็น “พื้นที่อีสานภาคกลาง” เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่ในเขตเงาฝน มีฝนตกในพื้นที่น้อยมาก ไม่ถึง 1,000 มม. อีกทั้งพื้นดินเป็นดินร่วนปนทราย เก็บน้ำไม่อยู่ ไม่สามารถสร้างฝายหรืออ่างเก็บน้ำในพื้นที่ได้

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง เผยว่า คณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ 5 อำเภอนี้เป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการให้อนุกรรมการบริหารจัดการน้ำรายภาคในพื้นที่ภาคกลาง ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน รับฟังปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข บริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกร

...

ที่ผ่านมาสำนักงานชลประทานที่ 13 กรมชลประทาน ได้วางแนวทางการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการต่างๆ ให้แล้วเสร็จ โดยเร็วจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำผันด้วยแรงโน้มถ่วงปีละ 256.5 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 2.0 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร 254.5 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 486,098 ไร่ ครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ 53,810 ครัวเรือน สร้างรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นปีละ 90,449 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำคำชี้แจงคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ

โครงการสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่ ส่งเข้าพื้นที่ในเขต อ.บ่อพลอย และ ต.วังด้ง อ.เมืองกาญจนบุรี ปริมาณน้ำที่ผัน ปีละ 27.3 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 0.63 ล้าน ลบ.ม. อีก 26.67 ล้าน ลบ.ม. เพื่อบรรเทาความขาดแคลนน้ำทำเกษตรพื้นที่ 78,508 ไร่ มีครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 21,659 ครัวเรือน สร้างรายได้ต่อครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นปีละ 19,001.12 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบรายละเอียด

“นอกจากแก้ปัญหาในพื้นที่ 5 อำเภอข้างต้น ยังมีแผนงานสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อีก 3 โครงการขนาดเล็ก 1.โครงการอ่างเก็บน้ำลำตะเพินบนพร้อมระบบผันน้ำ มีพื้นที่ใน อ.หนองปรือ อ.เลาขวัญ และ อ.ห้วยกระเจา ได้รับประโยชน์รวม 42,000 ไร่ 2.โครงการขยายความจุอ่างเก็บน้ำลำอีซู มีพื้นที่ใน อ.บ่อพลอย ได้รับประโยชน์ 5,000 ไร่ 3.โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำอาคารประกอบคลองท่าล้อ-อู่ทอง พื้นที่รับประโยชน์รวม 149,500 ไร่ ซึ่งดำเนินการพัฒนาโครงการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสามารถพัฒนาพื้นที่ไปได้แล้ว 35,000 ไร่ หากดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนงาน จะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ได้อย่างแน่นอน” ดร.สมเกียรติ กล่าว.

...