วิศวกรของ GISTDA ทดลองส่งข้าวกะเพราหมูสับขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ โดยใช้บอลลูนบรรจุแก๊สฮีเลียมผูกติดกับอาหาร ที่ฐานปล่อยบึงบอระเพ็ด ศึกษาหากอาหารขึ้นไปในอวกาศ รสชาติคงเดิมหรือไม่

ที่จังหวัดนครสวรรค์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 10 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู วิศวกร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA (จิสด้า) ทำการทดลองจัดส่ง ข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาว ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ (สตราโตสเฟียร์) โดยใช้บอลลูนบรรจุแก๊สฮีเลียม ผูกติดกับอาหาร โดยมีผู้ร่วมดำเนินการทดลองทั้งแม่ครัวผู้ปรุงอาหาร นักเรียน และ คริส ยูทูบเบอร์จากช่อง Retired Working For You ร่วมเป็นผู้ปล่อยบอลลูนสู่ท้องฟ้า

...

โดยการทดลองจะแยกเป็น โมดูลซ้ายและขวา ซ้ายเป็นข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาว บรรจุใส่จานโฟมหุ้มด้วยฟิล์มห่อหุ้มอาหาร และขวา เป็นข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวที่บรรจุอยู่ในกล่องพลาสติกใส่อาหาร พร้อมติดตั้งเครื่องระบุพิกัด GPS จากดาวเทียม โดยตั้งฐานปล่อยกะเพราหมูสับไข่ดาว ณ สนามบอล บึงบอระเพ็ด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ปล่อยให้ขึ้นสู่ชั้นอวกาศ ซึ่งจะอยู่ห่างจากพื้นดินราว 30-35 กิโลเมตร

ข้าวกะเพราหมูสับไข่ดาวทั้ง 2 ภาชนะบรรจุ จะลอยขึ้นสู่ขอบอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำสุด -20 ถึง -40 องศาเซลเซียส เพื่อทดสอบเรื่อง การเปลี่ยนแปลงของอาหาร หลังจากขึ้นไปบนอวกาศว่าคงเดิมหรือไม่ และเพื่อพัฒนาศักยภาพไปเป็นอาหาร สำหรับนักบินอวกาศ เนื่องจากข้าวผัดกะเพราเป็นเมนูยอดฮิตของคนไทย และเป็นเมนูที่รู้จักกันไปทั่วโลกสำหรับการเดินทางของข้าวผัดกะเพราหมูสับไข่ดาวนี้ จะใช้เวลาเดินทางถึงชั้นบรรยากาศประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง และจะใช้เวลาตกสู่พื้นโลกราวๆ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยการคำนวณรัศมีจุดตกจะอยู่ห่างจากฐานปล่อยเป็นระยะทางไม่เกิน 30 กิโลเมตร หรืออาจจะตกในแนวทุ่งนาและในบึงบอระเพ็ด.