ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพพี่น้องชาวนา ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า พร้อมหนุนเกษตรกรเข้าสู่ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ สร้างความเข้มแข็งยั่งยืนในอาชีพ
เมื่อวันที่ 8 พ.ย.64 นางปรารถนา สุขศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท มีภารกิจปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว เช่น การปรับปรุงพันธุ์ให้ข้าวมีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน และมีความทนต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว สำหรับกิจกรรมทางด้านแปลงใหญ่ เป็นงานนโยบายของกรมการข้าว ที่รับสมัครเกษตรกร ให้มีการรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต และเสริมสร้างความต้องการให้เหมาะสมกับที่กลุ่มเกษตรกรต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ หรือแปรรูปเป็นข้าวสาร
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้มีการวิจัยพันธุ์ข้าวที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค อย่างพันธุ์ กข 79 ซึ่งเป็นข้าวพื้นนุ่ม ลักษณะขาวเมล็ดเรียวยาว ที่สำคัญให้ผลผลิตต่อไร่ในปริมาณสูง ทำให้เกษตรกรแปลงใหญ่สามารถผลิตข้าวได้ตามความต้องการของตลาด รวมถึง ข้าวพันธุ์ กข 85 ซึ่งเป็นข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่ในปริมาณสูง ต้านทานโรคได้ดี
...
นางสาวชวนชม ดีรัศมี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า พันธุ์ กข 79 จะมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นข้าวพื้นนุ่ม ข้าวพื้นนุ่มก็คือ เมื่อหุงสุกแล้วจะมีลักษณะนุ่มเหนียว เราได้ส่งออกข้าวพื้นนุ่ม แต่ไม่มีกลิ่นหอม กข 79 จะเป็นลูกครึ่ง แม่เป็นคนไทยพ่อเป็นฝรั่ง พ่อเป็นฝรั่งหมายความว่า เราได้สายพันธุ์จากต่างประเทศ และมาผสมกับข้าวสายพันธุ์ของไทยที่มีความต้านทาน แต่ว่าผลผลิตไม่สูง ส่วนข้าวต่างประเทศมีลักษณะนุ่ม แต่ไม่ต้านทาน เอามาผสมกันและคัดเลือกใหม่ มีอายุเก็บเกี่ยว 110-115 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ส่วนข้าวพันธุ์ กข 85 จะมีระดับความต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง จะเป็นการผสมกัน 3 ทาง เช่น การเอาเอกับบีมาผสมกันได้เอฟวัน หลังจากนั้นเอาเอฟวันไปผสมกับซี คือ เราเพิ่มความต้านทานและเพิ่มผลผลิตเข้าไป อายุเก็บเกี่ยว 115-120 วัน เป็นข้าวที่อายุค่อนข้างมาก หรือประมาณ 4 เดือนเต็ม แต่ว่าผลผลิตจะสูงมาก สูงสุดประมาณ 1,400 กิโลกรัมต่อไร่
การผลิตข้าวพันธุ์ กข 79 และ กข 85 เกิดขึ้นภายใต้ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ โดยมีการวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต สร้างอำนาจการต่อรองของเกษตรกรได้ตลอดกระบวนการ อีกทั้งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดการต่อยอด และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น สร้างความยั่งยืนได้ทั้งระบบ.