ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ เน้นย้ำควบคุมคุณภาพกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทุกขึ้นตอน ลดความเสี่ยงการเจือปนข้าวพันธุ์อื่น จนได้คุณภาพมาตรฐานก่อนขายให้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.64 นายสิทธิชัย ม่วงงาม ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ กล่าวว่า ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการดำเนินงานซึ่งเน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ โดยวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการผลิตข้าว เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี ช่วยให้ได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพดีและได้มาตรฐาน การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีสำหรับจำหน่าย จำเป็นต้องควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่การตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูก กระบวนการเพาะปลูกและการดูแลตรวจตัดพันธุ์ปนในแปลงนา การตรวจประเมินแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ก่อนการเก็บเกี่ยว การตรวจสอบคุณภาพก่อนการจัดซื้อ การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ การบรรจุ จนถึงการเก็บรักษาเพื่อรอจำหน่าย ซึ่งมีการตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ข้าวในทุกขั้นตอน เพื่อลดความเสี่ยงของการปนของข้าวพันธุ์อื่น การทำลายของศัตรูพืช และปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ได้ตามมาตรฐาน

...



นางสาวปัณณ์พัฒน์ อินพิทักษ์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มควบคุมคุณภาพ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ กล่าวว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครสวรรค์ ได้กำหนดให้มีการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวด ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการจัดทำแปลงผลิต การผลิตในแปลงขยายพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ก่อนการจัดซื้อ เมล็ดพันธุ์ระหว่างและหลังการปรับปรุงสภาพ จนถึงเมล็ดพันธุ์ดีที่อยู่ระหว่างการเก็บรักษาในโรงเก็บ และทางศูนย์ฯใช้มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าวกรมการข้าว พ.ศ. 2557 เป็นเกณฑ์ในการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์คืนจากเกษตรกร ได้แก่ 1. ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ ต้องมีเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพื่อการจำหน่าย 98% มีสิ่งเจือปนได้ไม่เกิน 2% 2. ความชื้น ไม่เกิน 14% ความชื้น คือปริมาณน้ำในเมล็ด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เมล็ดเสื่อมคุณภาพและมีผลโดยตรงต่ออายุการเก็บรักษา 3. ข้าวแดงชั้นพันธุ์ขยาย ข้าวแดงจะมีได้ 1 เมล็ด ชั้นพันธุ์จำหน่ายเมล็ดแดงมีได้ไม่เกิน 5 เมล็ดจากเมล็ดพันธุ์ 500 กรัม และ 4. ความงอก เมล็ดพันธุ์ข้าวจะต้องมีความงอกไม่น้อยกว่าร้อยละ 80%

"กว่าที่เกษตรกรทั่วไปหรือกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่จะได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพไปใช้เพาะปลูกนั้น ตลอดกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ สิ่งสำคัญมากคือ การควบคุมคุณภาพ เพื่อจะทำให้เกิดความมั่นใจว่าเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตมีคุณภาพดี ตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่เกษตรกร และลูกค้าว่าได้ซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีไปเพาะปลูก" นางสาวปัณณ์พัฒน์ กล่าว.