"มัลลิกา" วอนช่วยน้ำท่วมลพบุรี ขอ "รัฐ-คลัง" ช่วยเจรจาสถาบันการเงิน หยุดคิดดอกเบี้ยช่วยเหลือเกษตรกร แนะพื้นที่ทหารในจังหวัด นำมาทำให้เกิดประโยชน์ เพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ 

เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 64 น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ส.ส.ลพบุรี เขต 2 พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ลพบุรี ว่า เป็นพื้นที่น้ำท่วมแบบซ้ำซาก และรับน้ำแทนพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ชาวนาได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเริ่มโอดครวญถึงเงินเยียวยาที่ได้ไม่สมเหตุสมผลกับสิ่งที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งชาวลพบุรีทราบดีว่า หากเกิดน้ำท่วมเป็นเพราะการกั้นน้ำเพื่อไม่ให้ไหลลงไปกระทบพื้นที่เศรษฐกิจอื่น เช่น กรุงเทพฯ ชาวบ้านคิดว่าเขาเป็นประชาชนชั้น 2 ที่ไม่สามารถมีปากมีเสียงได้ 

น.ส.มัลลิกา กล่าวต่อว่า ตนขอฝากผ่านไปยังทุกธนาคาร โดยเฉพาะ ธ.ก.ส. ว่า ขอให้ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยการหยุดคิดดอกเบี้ยไม่ใช่การพักต้นพักดอก เพราะการพักต้นพักดอกนั้น คือ แค่การพักไม่ต้องให้ไปจ่าย แต่ดอกเบี้ยยังเดินทุกวัน ควรที่จะหยุดคิดดอกเบี้ย ถึงจะเป็นการช่วยชาวนาได้จริง นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่มีการผ่อนบ้านผ่อนรถ ขอให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังช่วยเจรจากับสถาบันการเงิน เรื่องการลดดอกเบี้ยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยด้วย 

"ส่วนการแจกถุงยังชีพนั้น ตนได้มีการลงพื้นที่ทุกวัน บางตำบลจะนำของไปไว้ที่ศูนย์อพยพ และให้ผู้นำชุมชนมารับไปแจกจ่ายอีกที นอกจากนี้ยังมีการตั้งครัวบนบก และนำอาหารไปส่งให้กับผู้ที่ประสบภัยอีกด้วย" น.ส.มัลลิกา กล่าว

น.ส.มัลลิกา กล่าวต่อว่า ส่วนด้านสาธารณสุขนั้น มีเจ้าหน้าที่ อสม.ลงพื้นที่สำรวจผู้ป่วยเป็นระยะ อาทิ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สำหรับชาวบ้านที่ต้องการอยู่บ้าน จะมีแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปดูแลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะมีเจ้าหน้าที่ดูระดับน้ำ หากพบว่าน้ำสูงขึ้น ก็จะมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทันที แต่อุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การสัญจร ถ้าหากศูนย์ใดที่ไม่มีเรือในส่วนกลาง ก็จะตระเวนรับ-ส่งเป็นเวลา เริ่มตั้งแต่ 07.00-22.00 น.  

...

ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนโควิดฯ ในพื้นที่นั้น น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า ตนมั่นใจในพื้นที่การ์ดไม่ตกอย่างแน่นอน เพราะมีบริการรับ-ส่งประชาชนไปฉีดวัคซีน ที่โรงพยาบาลชั่วคราว เทศบาลเมืองบ้านหมี่ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการวางแผนว่า มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนกี่ราย โดยทาง อบต.จะมีการจัดระบบขนส่งเป็นทอดๆ เพื่อส่งต่อไปยังศูนย์ฉีดวัคซีน ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ทำให้เห็นถึงเรื่องของการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น โดยทาง ส.ส.และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ ได้มีการพยายามผลักดันและกระจายอำนาจลงไปตามท้องถิ่น เพื่อให้ชุมชนต่างๆ ได้บริหารจัดการกันเองมากขึ้น 

"ต้องการให้ทางภาครัฐจัดการวางแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมให้มากกว่านี้ ต้องคิดแล้วว่าถ้าหากมีมวลน้ำมาอีก จะนำน้ำไปไว้ตรงไหน ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำหรือไม่ ซึ่งด้วยกำลังเงินของท้องถิ่นไม่ได้มีมากพอ ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งการจะสร้างกระทำการใดๆ นั้น จะมีปัญหาเรื่องที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากในพื้นที่ส่วนใหญ่จะไปติดกับที่ของทหาร จึงไม่สามารถสร้างพื้นที่เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้  และถ้าหากชาวบ้าน อ.บ้านหมี่ ไม่ยอมให้น้ำไหลเข้าอำเภอ แน่นอนว่ามวลน้ำก็จะเข้าไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจอย่างแน่นอน" น.ส.มัลลิกา กล่าว 

นอกจากนี้ น.ส.มัลลิกา ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ จ.ลพบุรี เป็นจุดรับน้ำแทนกรุงเทพฯ ขณะนี้น้ำในทุ่งบางจุดของ อ.เมืองลพบุรี ที่ชาวนาขอเกี่ยวข้าวก่อน มีการระบายน้ำไปบ้างแล้ว ซึ่งชาวนาบอกว่าถ้าเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว เขาจะยอมปล่อยให้พื้นที่เป็นที่รับน้ำ เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่เรื่องการชดเชยรายได้นั้น ไม่มีใครมารับรองได้ว่าจะชดเชยให้อย่างไร หากชดเชยราคาตามราชการ 1,340 บาท/ไร่ และไม่เกิน 30 ไร่/คน คือน้อยเกินไป เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากกว่านั้น ถ้าหากรัฐบาลชดเชยให้มากกว่านี้ ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง.