น้ำท่วมแผ่ขยายวงกว้าง ขอนแก่นจมเพิ่มอีก 2 อำเภอ ถนนมิตรภาพท่วมยาว 5 กม. รถติดวินาศ สุโขทัยระทมซ้ำน้ำไหลแรงซัดบ้านพังทั้งหลัง สระบุรีอ่วมหนักแนวกั้นน้ำแตกจมบาดาล 3 อำเภอ พื้นที่ท้ายเขื่อนป่าสักฯยังวิกฤติ ระดับน้ำสูงขึ้นต่อเนื่อง เขื่อนเจ้าพระยาลดการระบายน้ำ ปภ.แจ้ง 3 จังหวัดเหนือเขื่อนเตรียมรับมือน้ำล้นตลิ่ง ส่วนจังหวัดท้ายเขื่อนระดมป้องกันเมืองเต็มที่ อ่างทองหวาดเสียวน้ำจ่อล้นพนังกั้น น้ำมุดดินใต้แนวเขื่อนจะเข้าท่วมวัดต้องเร่งสูบออก กรมชลฯชี้แนวโน้มสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนบนเริ่มคลี่คลาย ผันเก็บทุ่งบางระกำ-บึงบอระเพ็ด ลดปริมาณน้ำลงเจ้าพระยา
หลายพื้นที่ยังไม่พ้นวิกฤติน้ำท่วมหนักทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต้องรับน้ำเหนือจำนวนมหาศาลที่เร่งระบายลงมาจากทางเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เร่งซ่อมอ่างลำเชียงไกรน้ำฮวบ
สถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ยังน่าห่วง เมื่อวันที่ 2 ต.ค. น้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ลดลงจนเหลือแค่ 6.3 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 22% ของความจุอ่าง 27.7 ล้าน ลบ.ม. จากที่เคยสูงสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ย. มีปริมาณน้ำ 45.4 ล้าน ลบ.ม.หรือคิดเป็น 164% ของความจุอ่าง เจ้าหน้าที่ชลประทานนำเครื่องจักรเร่งซ่อมแซมคันดินที่ชำรุดบริเวณสถานที่ก่อสร้างประตูระบายน้ำหลักให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 ต.ค.เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งปีหน้า
...
ท่วมถนนมิตรภาพรถติดยาว
ส่วนมวลน้ำที่ไหลทะลักจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ขยายวงกว้างไปถึง อ.พิมาย นายเศรษฐี แพรกนัทที ปลัดอาวุโส รรท.นอภ.พิมาย ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอพิมาย มีหน่วยงานเอกชนโรงงานน้ำตาลพิมาย จัดทำข้าวกล่องมามอบให้ทุกวันจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะ ปกติ ขณะที่มวลน้ำไหลบ่าเข้าท่วมถนนมิตรภาพ ทั้งฝั่งขาขึ้นและขาล่องในพื้นที่ อ.คง ตั้งแต่บริเวณแยกบ้านตาชู ต.ตาจั่น ไปถึงแยกบ้านวัด ต.เทพาลัย ระยะทางประมาณ 5 กม.ระดับน้ำสูง 40-50 ซม. รถยนต์ขนาดเล็กวิ่งผ่านไม่ได้ ส่งผลให้การจราจรติดขัดยาวเหยียด ตำรวจทางหลวงแจ้งผู้ขับขี่จากกรุงเทพฯ ที่จะไปขอนแก่น เลี่ยงไปใช้เส้นทางผ่าน อ.พิมาย อ.โนนแดง อ.ประทาย และเลี้ยวเข้าถนนมิตรภาพบริเวณแยกสีดา อ.สีดา คาดว่า 2-3 วันน้ำจะลดลงกลับสู่ภาวะปกติ จ.นครราชสีมา รายงานพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 19 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 11,164 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 321,935 ไร่
ขอนแก่นจมเพิ่มอีก 2 อำเภอ
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น นำคณะไปตรวจเยี่ยมชาวบ้านผู้ประสบภัยที่บ้านโนนกะยอม ต.โพธิ์ไชย อ.โคกโพธิ์ไชย เป็นมวลน้ำจากแม่น้ำชีที่ไหลมาจาก จ.ชัยภูมิ บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร 4 ตำบล รวมกว่า 40 หมู่บ้านเดือดร้อนหนัก นายสมศักดิ์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องคือช่วงคืนที่ผ่านมามีน้ำไหลบ่าเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอเพิ่มเติมคือ อ.บ้านแฮด และ อ.บ้านไผ่ ส่วนพื้นที่ อ.ชุมแพ และ อ.หนองเรือ ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว ด้านเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำไหลเข้าประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม.ต้องเฝ้าติดตามเป็นพิเศษ สถานการณ์น้ำภาพรวมขณะนี้หนักตรงลำน้ำชีที่รับน้ำจากชัยภูมิ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไหลบ่าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดขอนแก่น และจะไหลเข้าสู่มหา สารคาม และร้อยเอ็ด ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากช่วงท้ายน้ำมีปริมาณสูงขึ้น
กาฬสินธุ์เร่งสูบน้ำออกนาข้าว
นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ร่วมพิธีกดปุ่มเดินเครื่องสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้ากุดขี้นาค ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย หลังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่นาข้าวระดับสูงและต้องเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำชี จากนั้น ไปตรวจจุดก่อสร้างสถานีสูบน้ำ พนังกั้นน้ำห้วยกุดแคน ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย แล้วลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย น้ำท่วมนาข้าวที่หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 6 หมู่ 9 และหมู่ 10 ต.เหล่าอ้อย อ.ร่องคำ รวมพื้นที่กว่า 800 ไร่ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชาชนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำชีเตรียมรับมือมวลน้ำมหาศาลที่จะมาจาก จ.ขอนแก่น ในช่วง 2-3 วันข้างหน้า
ระดมเครื่องผลักดันน้ำลงโขง
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ.อุบลราชธานี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ที่สะพานแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร มีเป้าหมายติดตั้งทั้งหมด 100 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่ท้ายน้ำ รองรับปริมาณน้ำจากจังหวัดตอนบนทั้งนครราชสีมาและชัยภูมิ นายพงศ์รัตน์กล่าวว่า ขณะนี้กรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 40 เครื่อง ที่สะพานข้ามแม่น้ำมูล แก่งสะพือ มีเป้าหมายติดตั้งให้แล้วเสร็จ 100 เครื่อง เพื่อเร่งผลักดันระบายน้ำในแม่น้ำมูลให้ได้วันละ 1 ล้าน ลบ.ม. ตอนนี้ระดับน้ำยังทรงตัว หากไม่มีฝนเติมลงมาอีกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีน้ำท่วมบ้านเรือนริมตลิ่งลุ่มแม่น้ำมูลในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี จำนวน 6 ชุมชน 100 ครัวเรือน ประชาชนเดือดร้อน 401 คน
น้ำป่าดินสไลด์ต้นไม้ขวางถนน
จ.แม่ฮ่องสอน พ.อ.สุจินต์ ทรัพย์สิน ผบ.ฉก.ร.7 ส่งกำลังพลไปช่วยเหลือเหตุฝนตกหนักที่ ต.ห้วยโป่ง และ ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อตอนค่ำวันที่ 1 ต.ค. เกิดดินสไลด์ต้นไม้ขนาดใหญ่โค่นล้มฟาดสายไฟฟ้าและกีดขวางถนนทางหลวงสาย 108 บ้านห้วยโป่งกาน หมู่ 6 ต.ผาบ่อง ยังโชคดี ไม่มียวดยานพาหนะได้รับอันตราย แต่ไฟดับเป็นบริเวณกว้าง เจ้าหน้าที่ต้องเร่งตัดทอนต้นไม้ที่ขวางถนนและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าให้กลับมาใช้การได้ตามเดิม นอกจากนี้ ยังเกิดฝนตกหนักที่ อ.แม่สะเรียง เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมถนนทางหลวงสาย 108 กม.ที่ 175 บ้านป่าจี้ ต.แม่เหาะ ไม่นานก็ลดระดับลง แต่พื้นถนนเต็มไปด้วยก้อนหินและดินโคลนมหาศาลที่มากับน้ำ เจ้าหน้าที่และชาวบ้านต้องช่วยกันเคลียร์ออกจากถนนเพื่อให้รถได้สัญจรตามปกติ
...
น้ำไหลแรงซัดบ้านพังทั้งหลัง
ที่อ่างเก็บน้ำแม่มอก อ.เถิน จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ ล้นสปิลเวย์ 0.28 ม. มวลน้ำยังคงไหลเข้าท่วม จ.สุโขทัย อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ ต.บ้านกล้วย อ.เมืองสุโขทัย เป็นพื้นที่รับน้ำก่อนจะไหลลงคลองแม่รำพัน ไหลต่อลงสู่แม่น้ำยม ถึงแม้ระดับน้ำจะลดลงบ้างแล้วแต่ถนนบริเวณหน้า รพ.สุโขทัย ถึงหน้าห้างบิ๊กซีสุโขทัยยังมีน้ำท่วมสูง รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ยังสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะพื้นที่บ้านหางคลอง หมู่ 5 ต.บ้านกล้วย เป็นพื้นที่รับน้ำจากทุ่งทะเลหลวงด้วย มีกระแสน้ำไหลแรงพัดเอากระสอบทรายที่นำมากั้นน้ำไปกระแทกบ้านเลขที่ 144/4 ของนายอำนาจ ศรีสุวรรณ อายุ 44 ปี จนพังถล่มลงมาทั้งหลัง เจ้าหน้าที่ไปให้ความช่วยเหลือ โดยด่วนแล้ว
อ่างทับเสลาต้องพร่องน้ำออก
จ.อุทัยธานี นายกฤษฎา ข้องพูน หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา หรืออ่างเก็บน้ำทับเสลา เผยถึงการบริหารจัดการน้ำว่า อ่างเก็บน้ำทับเสลามีความจุของอ่างอยู่ที่ 160 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเกือบเต็มอ่าง 98% เพื่อความปลอดภัยของอ่างจำเป็นต้องพร่องน้ำโดยระบายน้ำไม่เกิน 5 ลบ.ม.ต่อวินาที ผ่านทางระบายน้ำเพื่อไม่ให้ล้นสปิลเวย์ จะดูผลกระทบไม่ต้องการไปซ้ำเติมสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ และยังเป็นการเตรียมตัวรองรับพายุที่จะมา ตอนนี้พื้นที่ท้ายน้ำยังพอระบายน้ำได้ หากสถานการณ์ใกล้วิกฤติจะแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ทราบ เพื่อแจ้งผู้นำชุมชนประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ
เร่งสูบน้ำระบายออกเมืองลพบุรี
ที่ประตูระบายน้ำที่ 3 โคกกระเทียม ต.เขาพระงาม อ.เมืองลพบุรี เจ้าหน้าที่ตั้งแนวคันดินรอบพื้นที่สำนักงานชลประทาน ฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก หลังมวลน้ำกัดเซาะแนวคันดินข้างประตูระบายน้ำพังทั้ง 2 ฝั่ง น้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 10 ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร เสมอกับ น้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก ส่วนบานประตูระบายน้ำ ได้เปิดสูงสุดทั้ง 4 บาน เพื่อให้น้ำไหลผ่านไปได้สะดวก เจ้าหน้าที่สูบน้ำออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ส่วนบริเวณ หน้าสำนักงานชลประทานที่ 10 มีชาวบ้านนำรถมาจอดหนีน้ำจำนวนมาก ขณะที่ถนนสายโคกกระเทียม-เขาพระงาม ชุมชนเขาพระงาม น้ำยังไหลหลากผ่าน ถนนเป็นทางยาวกว่า 200 เมตร วันนี้ระดับน้ำลดลง ราว 10 ซม. ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงใช้เรือเป็นยานพาหนะ เข้าออกบ้าน มีทหารและเจ้าหน้าที่กู้ภัยคอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวก
...
แนวกั้นแตกจมบาดาล 3 อำเภอ
จ.สระบุรี ระดับน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กระแสน้ำกัดเซาะแนวกั้นช่วง ต้นคลอง 23 R ที่แยกจากคลองชัยนาท-ป่าสัก เกือกม้าโครงการชลประทานเริงรางคลอง 23A อ.บ้านหมอ พังทลายกว้างกว่า 20 เมตร น้ำไหลทะลักเข้าท่วม พื้นที่หมู่ 5 ต.สร่างโคก ไหลลงพื้นที่ ต.ตลาดน้อย ต.โคกใหญ่ และ ต.หรเทพ ขยายวงกว้างไปพื้นที่ติดกันอีก 2 อำเภอ คือ อ.หนองโดน และ อ.ดอนพุด มีบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง สำหรับคลองชัยนาท-ป่าสักรับน้ำมาจาก เขื่อนเจ้าพระยาที่ปล่อยลงแม่น้ำป่าสักบริเวณ ต.บ้านครัว อ.บ้านหมอ หน่วยงานราชการประกาศให้ประชาชนทั้ง 3 อำเภอ รีบขนย้ายข้าวของและอพยพหนีน้ำไปยัง ที่ปลอดภัยแล้ว นายพุทธพงษ์ สุริยะสิงห์ นอภ.บ้านหมอ กล่าวว่า ระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมีประชาชน อ.บ้านหมอ ถูกน้ำท่วม 380 หลัง สั่งการให้ผู้นำท้องถิ่นเร่งช่วยเหลือ แล้ว มี 3 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบคือ อ.บ้านหมอ อ.หนองโดน และ อ.ดอนพุด ตอนนี้ต้องประเมินรอยพังของแนวกั้นน้ำตลอดเวลา
แม่น้ำป่าสักท่วมสูงขยายวงกว้าง
...
ส่วนสถานการณ์น้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ระบายลงแม่น้ำป่าสัก จนบ้านเรือนประชาชนท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบตลอดแนวฝั่งในพื้นที่ อ.เมืองสระบุรี ที่ชุมชนเขาคูบา น้ำท่วมขยายวงกว้างจากเดิม 100 หลัง เพิ่มขึ้นเป็น 150 หลัง ที่สะพานดำบ้านกล้วย เส้นทางเชื่อมต่อไปตัวเมืองสระบุรี น้ำท่วมสูงขึ้นเป็น 1.30 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องปิดตายไม่ให้รถทุกชนิดผ่าน ขณะที่สะพานอำนวยสงคราม ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักสูงขึ้นมาเกือบจ่อคอสะพานแต่ยังใช้สัญจรได้ตามปกติ เช่นเดียวกับสะพานข้ามแม่น้ำป่าสักฝั่งทิศตะวันตก สายบายพาสเลี่ยงเมือง ถึงแม้จะมีน้ำสูง แต่ยังใช้สัญจรได้ปกติเช่นกัน ส่วนพื้นที่ อ.เสาไห้ ได้รับผลกระทบแล้ว 11 ตำบล มีชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 600 ครัวเรือน
เขื่อนเจ้าพระยาระบายลดลง
สถานการณ์น้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ยังคงเร่งระบายน้ำอยู่ที่ 2,762 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงเล็กน้อยจากเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ระบายน้ำ ที่ 2,801 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนสูงกว่า ขีดแดงอยู่ 16 ซม. วัดได้ 16.16 ม.รทก. บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบขยายวงกว้าง ระดับน้ำ
ท่วมสูงตั้งแต่ 50-150 ซม. ในเขตเทศบาลตำบลโพนางดำออก เป็นพื้นที่ต่ำได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเพิ่มทุกครั้ง ครั้งนี้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย 1,448 ครัวเรือน ประชาชนส่วนหนึ่งยังคง อาศัยอยู่ในบ้านเพราะห่วงทรัพย์สินมีค่า มีบ้านหลังหนึ่งเลี้ยงไก่ไข่ไว้ขายกว่า 40 ตัว โดนน้ำท่วมมิดชั้นล่าง ต้องใช้หลังคาบ้านเป็นที่เลี้ยงไก่ชั่วคราว
ชี้ปริมาณน้ำยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ
ที่วัดมะปราง ต.โพนางดำออก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย 6,500 ชุด นายอนุชา กล่าวว่า อ.สรรพยา เป็นพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา สภาพเป็นที่ลุ่มต่ำ เมื่อมีปริมาณฝนมากจะเป็นจุดแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบทุกปี ปีนี้มีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้ เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มขึ้น จนเกิดเหตุน้ำล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน แม้ปัจจุบันปริมาณน้ำจะเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติเท่าปี 2554 ประกอบกับปริมาณน้ำสะสมมีไม่มาก และเป็นปกติของ ฤดูน้ำหลาก หากไม่มีปริมาณฝน หรือมวลน้ำจากที่อื่น มาเพิ่ม จะกลับสู่ภาวะปกติในเวลาครึ่งเดือนถึงหนึ่งเดือนนี้
อ่างทองระทึกน้ำจ่อล้นพนังกั้น
จ.อ่างทอง บริเวณริมพนังกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนบ้านรอ ต.บางแก้ว อ.เมืองอ่างทอง สามล้อแดง รับจ้างกว่า 100 คัน วิ่งขนกระสอบทรายมาวางเสริมป้องกันริมเขื่อนเป็นระยะทางยาวกว่า 1 กม. หลังน้ำ เจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นเกือบถึงสันเขื่อน เหลือไม่ถึง 10 ซม. จะเอ่อล้นทะลักเข้าย่านเศรษฐกิจและศูนย์ ราชการ ขณะที่มีฝนตกลงมาอย่างหนักนานร่วม 1 ชม. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในเมืองอ่างทองบริเวณ
สี่แยกไฟแดงและตลาดสดเทศบาล 2 ที่เป็นแอ่งกระทะ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านหน้าศาลากลางจังหวัดเพิ่มสูงขึ้น 2 ซม.อยู่ที่ระดับ 9.23 เมตรจากระดับตลิ่ง 10 เมตร น้ำไหลผ่าน 2,535 ลบ.ม. ต่อวินาที มีบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายร้อยหลังในพื้นที่ ต.โพสะ ต.จำปาหล่อ อ.เมืองอ่างทอง ต.บางปลากด ต.โผงเผง อ.ป่าโมก ต.เทวราช ต.เกษไชโย อ.ไชโย และหมู่ 9 ต.บางจักร อ.วิเศษชัยชาญ
ระดมอุดน้ำมุดดินเข้าวัดไชโย
เกิดเหตุน้ำมุดดินทะลักใต้แนวเขื่อนริมเจ้าพระยา หน้าบ้านเลขที่ 67 หมู่ 3 ต.เกษไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง ใกล้วัดไชโยวรวิหาร เจ้าหน้าที่เทศบาลประชาสัมพันธ์เสียงตามสายให้ชาวบ้านขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูงและ ออกมาช่วยกันกรอกกระสอบทรายไปอุดจุดที่มีมวลน้ำ ทะลักเข้ามา เพื่อไม่ให้เข้าท่วมวัดไชโยวรวิหารและ พื้นที่หมู่ 1 ถึงหมู่ 6 ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจมาช่วยกัน อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 เครื่อง มีชาวบ้านใกล้จุดที่มีมวลน้ำทะลัก ยอมเสียสละให้น้ำท่วมบ้านชั้นล่างเพื่อเป็นจุดศูนย์รวมของน้ำในพื้นที่ต่ำให้เครื่องสูบน้ำระบายออก
ทำคันกั้นรอบเกาะเมืองกรุงเก่า
เมืองกรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าที่ ร.ต. สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ระดมเจ้าหน้าที่เทศบาลบรรจุ กระสอบทรายนำไปปิดกั้นตามท่อระบายต่างๆ พร้อมทั้ง ทำสะพานคนเดินในเขตชุมชนเมือง นอกจากนี้ใช้รถสิบล้อ 20 คัน บรรทุกดินมาทำคันกั้นน้ำบนถนนอู่ทอง รอบเกาะเมืองระยะทาง 10 กม. ตั้งแต่หน้าเจดีย์พระศรีสุริโยทัย หน้ากรมทหารซ่อมยาง ตลาดหัวแหลม วัดตึก ประตูชัย ไปถึงตลาดหัวรอ เนื่องจากเป็นช่วงถนนต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำ ส่วนที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร กำลังทหารพร้อมพระเณรและเจ้าหน้าที่วัดช่วยกันยกแผงเหล็กหรือแผ่นบังเกอร์ป้องกันน้ำท่วมแบบสำเร็จรูป สูง 2.5 เมตร กว้าง 1.2 เมตร ระยะทาง 700 เมตร ที่วางอยู่ในแนวฐานเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสักเพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้ามาในวัด
ป้องไม่อยู่น้ำทะลักเข้าวัดไชยฯ
ส่วนวัดไชยวัฒนาราม โบราณสถานสำคัญอีกแห่งของ จ.พระนครศรีอยุธยา ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะทำพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างดี แต่กลับมีน้ำไหลเข้าทางหลังวัดจนเจิ่งนองเต็มพื้นที่บริเวณวัด เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรต้องเพิ่มเครื่องสูบน้ำอีก 4 เครื่องเร่งระบายออก ขณะเดียวกันระดับน้ำในแม่น้ำลพบุรีเพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่วังช้างอยุธยาแลเพนียด นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ ผอ.วังช้างฯ เร่งให้ควาญช้างและคนงานขนย้ายช้างออกจากจุดที่น้ำท่วมสูง โดยนำช้างแม่ลูกอ่อน 6 คู่ 12 เชือก ไปอยู่ชั่วคราวที่โคกเพนียดคล้องช้างได้รับอนุญาตจากอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เจ้าของพื้นที่ หากระดับน้ำสูงขึ้นอีกจนอยู่ไม่ได้
ก็อาจต้องย้ายช้างทั้งหมด 85 เชือก
คลองชลประทานล้นท่วมถนน
จ.ปทุมธานี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนริมน้ำในพื้นที่ ต.ป่างิ้ว ต.เชียงรากใหญ่ และ ต.คลองควาย อ.สามโคก นอกจากนี้ที่หมู่ 1 ถึงหมู่ 3 ต.คลองควาย มีน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะชุมชนข้างวัดเจดีย์ทอง นายสายชล ภู่เฉลิมตระกูล กำนัน ต.คลองควาย ต้องรีบทำสะพานทางเดินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน ขณะที่น้ำคลองชลประทานที่ 13 เอ่อล้นจนท่วมถนนหน้าวัดปทุมนายก หมู่ 6 ต.ศาลาครุ อ.หนองเสือ ชาวบ้านต้องช่วยกันก่อสร้างแนวดินเพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนและบ่อเลี้ยงปลา นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ กล่าวว่า สาเหตุที่น้ำในคลองชลประทานที่ 13 เอ่อท่วมข้ามถนนจนเกือบจะเข้าบ้านเรือนประชาชน เนื่องจากเกิดการสะสมของน้ำที่มาจากภาคเหนือ ขณะนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลดปริมาณการผันน้ำแล้วจะไม่ให้มีผลกระทบต่อชาวบ้าน
ทะเลหนุนน้ำทะลักปากเกร็ด
จ.นนทบุรี เจ้าหน้าที่เทศบาลนครปากเกร็ดและกำลังทหารช่วยกันเร่งบรรจุทรายลงกระสอบ บริเวณชุมชนบ้านหาด ซอยวัดกู้ ถนนแจ้งวัฒนะ ต.ปากเกร็ด เพื่อนำไปวางทำแนวกั้นน้ำในชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ เช่น ชุมชนซอยคานเรือ และชุมชนปากด่าน เป็นจุดเสี่ยงที่ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูงสุด วัดระดับได้ 2.2 เมตร ที่บริเวณท่าน้ำปากเกร็ด นอกจากนี้ยังจัดทำสะพานไม้ให้ทุกชุมชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อใช้เดินทางเข้าออกบ้านได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ไม่ต้องเดินลุยน้ำ
ฝนเทน้ำท่วมอุโมงค์ดินแดง
ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯมีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วงบ่าย ทำให้ภายในอุโมงค์ลอดใต้ทางด่วนดินแดง มีน้ำท่วมขัง จากทิศทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมุ่งหน้าถนนประชาสงเคราะห์ ประกอบกับมีรถเสียอยู่กลางอุโมงค์ ทำให้การจราจรติดขัด ท้ายแถวยาวไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตำรวจจราจร สน.ดินแดง และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ร่วมกันเข้าคลี่คลายสถานการณ์ สอบถามทราบว่าสาเหตุเกิดจากระบบไฟฟ้าขัดข้อง เนื่องจากตู้ควบคุมเครื่องสูบน้ำ พัดลมระบายอากาศ และไฟส่องสว่างในอุโมงค์ได้รับความเสียหาย จากสถานการณ์การชุมนุมของหลายกลุ่มบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงในห้วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา
ปภ.แจ้งเตือน 3 จว.เหนือเขื่อน
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ประสาน 3 จังหวัดคือ นครสวรรค์ อุทัยธานี และชัยนาท รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแพร้านอาหารริมน้ำ แพเรือโดยสารสาธารณะ รวมถึงเตรียมพร้อมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรทางน้ำ อีกทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน 24 ชม.
สถานการณ์น้ำเหนือเริ่มคลี่คลาย
กรมชลประทานรายงานว่า แนวโน้มสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนเริ่มคลี่คลาย น้ำที่มาจาก จ.สุโขทัย ผ่านแม่น้ำยมถูกผันเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำได้เกือบ 400 ล้าน ลบ.ม.แล้ว ส่วนน้ำจากฝั่งแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม บริเวณ จ.นครสวรรค์ ถูกผลักเข้าไปเก็บไว้ในบึงบอระเพ็ดได้ราว 200 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำจะทยอยลดลงในระยะต่อไป สำหรับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ฝั่งคลองชัยนาท-ป่าสัก (ฝั่งตะวันออก) ไม่ได้มีการรับน้ำเข้า เพราะน้ำจาก อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ และ อ.บ้านหมี่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ยังมีอยู่มาก แต่จะเพิ่มการระบายน้ำฝั่งตะวันตกทางแม่น้ำท่าจีนเพิ่ม เพื่อหน่วงน้ำฝั่งตะวันตกไว้ จากสถานการณ์ดังกล่าวกรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 2,700 ลบ.ม.ต่อวินาที หรืออาจจะเกินบ้างเล็กน้อยหากมีฝนตกลงมา แต่จะพยายามระบายน้ำไม่ให้เกินจากนี้เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่าง ควบคู่ไปกับการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้ได้มากที่สุด
ส่งทีมแพทย์ดูแลผู้ประสบภัย
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ 264,210 ครัวเรือนใน 195 อำเภอ จาก 31 จังหวัด มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 51 ราย เสียชีวิต 27 ราย และสูญหาย 1 ราย ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด สำหรับสถานบริการสาธารณสุข ได้รับผลกระทบ 78 แห่ง เปิดบริการตามปกติ 48 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 8 แห่ง และปิดบริการ 29 แห่ง สธ.ส่งทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ 144 ทีม ดำเนินการดูแลประชาชนและผู้ประสบภัยใน 17 จังหวัด รวม 60,467 ราย อาการเจ็บป่วยที่พบมากสุดคือน้ำกัดเท้า ตามด้วยอาการทางผิวหนัง แพ้ ผื่นคัน และเหนื่อยอ่อนเพลีย การประเมินสุขภาพจิตมีภาวะเครียดระดับมาก 2 ราย ดำเนินการดูแลแล้ว นอกจากนี้ยังสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์จากส่วนกลาง 5 พันชุดในพื้นที่ 6 จังหวัด พร้อมกำชับให้เฝ้าติดตามสถานการณ์และผลกระทบด้านโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำท่วม ที่ต้องเน้นย้ำคืออุบัติเหตุ เช่น จมน้ำ ไฟฟ้าช็อต ขอให้ประชาชนระมัดระวัง
โพลชี้ ปชช.เชื่อมั่นรัฐบาลน้อย
กรุงเทพโพลโดยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ครบ 10 ปี มหาอุทกภัย คนไทยหวาดหวั่นหรือไม่” เก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ 1,077 คน พบว่า จากข่าวน้ำท่วมจังหวัดต่างๆ ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.5 มีความกังวลค่อนข้างน้อยถึงไม่กังวลเลย ว่าจะเกิดเหตุซ้ำรอยปี 54 ร้อยละ 42.5 มีความกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด เมื่อถามว่าเชื่อมั่นเพียงใดว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมเหมือนปี 54 ได้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.4 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นน้อยถึงน้อยที่สุด ร้อยละ 29.6 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด ส่วนคะแนนความพอใจต่อการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม จากทุกภาคส่วนเฉลี่ย 3.02 คะแนนจากเต็ม 5 คะแนน ด้านที่ได้คะแนนมากสุดคือการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเฝ้าระวังและเตรียมรับมือ ส่วนเรื่องที่กังวลมากที่สุดจากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.5 ระบุว่า กังวลเรื่องการรับมือกับโรคระบาดที่มากับน้ำพร้อมกับการรับมือเชื้อโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาด
ทั่วประเทศยังมีฝนตกต่อเนื่อง
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายสภาพอากาศช่วงวันที่ 2-4 ต.ค. ลมตะวันออกและลมตะวันออก เฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ส่วนช่วงวันที่ 5-8 ต.ค. ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้