ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา เร่งปรับปรุงพันธุ์ข้าว ผลิตเมล็ดพันธุ์คัดและเมล็ดพันธุ์หลัก ให้มากพอตามความต้องการของกองเมล็ดพันธุ์ข้าวและเกษตรกร เพิ่มรายได้ชาวนา

เมื่อวันที่ 8 ก.ย.64 นายพีรวัส ธรรมิรัตนเกษม นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา มีภารกิจหลักเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาด้านพันธุ์ข้าวและงานผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ดี ซึ่งการผสมพันธุ์ข้าวถือเป็นหนึ่งในวิธีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ออกมาสู่เกษตรกร มีการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่มีความเด่นที่เราต้องการหนึ่งคือ ความต้านทานโรคแมลง และการให้ผลผลิตสูง จึงได้นำสองพันธุ์นี้มาผสมเข้าด้วยกันคือใช้เกสรตัวผู้ของต้นพ่อและเกสรตัวเมียของต้นแม่เอามาผสมข้ามกัน ก็จะได้เมล็ดพันธุ์ขึ้นมาเรียกว่าเมล็ดพันธุ์เมล็ด F1จะมีของต้นพ่อครึ่งหนึ่งของแม่ครึ่งหนึ่ง นำมาปลูกในแปลง เพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดและเมล็ดที่เก็บเกี่ยวได้เรียกว่าเมล็ด F2 จากนั้นจะคัดเลือกตั้งแต่ F2 ไปจนถึง F6 ซึ่ง F6 จะมีความคงตัวทางพันธุกรรมสูงมาก เมื่อได้พันธุ์ข้าวที่เกษตรกรยอมรับและมีความดีเด่นแล้วถึงจะเข้าสู่กระบวนการรับรองพันธุ์


นายปรัชญ์ พยัคฆเพศ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า กลุ่มศาลาแดง 1 เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนายกระดับเกษตรกรในพื้นที่ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่ม ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทราเราเล็งเห็นตรงนี้จึงได้เข้ามาส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลิต ให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ ทำให้กลุ่มมีองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้คุณภาพข้าวดีขึ้น พร้อมมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี และกระสอบบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงนำเทคโนโลยีการลดต้นทุนมาใช้ เช่น ใช้รถปักดำแทนวิธีการหว่านแบบเดิม การบริหารจัดการศัตรูพืชศัตรูข้าวให้เกิดการระบาดน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ซึ่งจะช่วยลดผลเสีย ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มสามารถเพิ่มผลผลิตที่จากเดิมได้ 850 กก.ต่อไร่ ก็สามารถเพิ่มขึ้นได้ถึง 950 กก.ต่อไร่ คุณภาพของข้าวก็สูงขึ้นด้วยจนได้รับมาตรฐาน GAP

...

นายทองเติม ฉิมวงษ์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวศาลาแดง 1 กล่าวว่า กลุ่มมีสมาชิก 33 คน ปลูกข้าว กข41 กข57 และ กข87 และปทุมธานี 1 ซึ่งต้องขอขอบคุณศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทราที่แนะนำพันธุ์ข้าว สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวและกระสอบ พร้อมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น รถดำนา ทั้งยังให้ความรู้การดูแลโรคแมลง สำหรับกลุ่มมีฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 3 ครั้งต่อปี.