ผอ.ศูนย์ BLUE House ปชป. ควบซาเล้งลงพื้นที่สองพี่น้อง มอบวีลแชร์ให้เด็กพิการ พร้อมขอ พม. ช่วยเหลือน้องๆ ผู้พิการ หวั่นขาดผู้ดูแลและมีความเสี่ยงสูงหากได้รับเชื้อโควิด


เมื่อวันที่ 26 ก.ค.64 นายเมฆินทร์ เอี่ยมสอาด ผู้อำนวยการศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ และช่วยเหลือประชาชน พรรคประชาธิปัตย์  (BLUE HOUSE) พร้อมด้วย นายรัชนันท์ ชื่นสุขอุรากุล อดีตรองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสองพี่น้อง และสมาชิกสภาเทศบาลฯ ร่วมลงพื้นที่ชุมชนบางใหญ่ เพื่อมอบหน้ากากอนามัย อุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาด เพื่อเป็นการป้องกันไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ นายเมฆินทร์ ได้มอบวีลแชร์ จำนวน 1 คัน ให้แก่ ด.ช.เติมศักดิ์ บุนคร อายุ 10 ปี ผู้พิการทางสมองและทุพพลภาพ ซึ่งอยู่อาศัยภายในชุมชน โดยมีคุณแม่และยายคอยดูแลช่วยเหลือ
      
นายเมฆินทร์ พร้อมด้วย นางวัชรีณ์ นิ่มอนงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หัวโพธิ์ และคณะ ยังได้ลงพื้นที่ อบต. หัวโพธิ์ เพื่อมอบหน้ากากอนามัยชาวบ้านตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง ทั้ง 14 หมู่บ้าน ร่วมถึงฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ภายในวัดท่าไชย โรงเรียนวัดท่าไชย (ประชานุกูล) และ ที่ทำการ อบต. หัวโพธิ์  โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายเมฆินทร์และคณะ ได้ใช้ซาเล้งเป็นยานพาหนะ เพื่อบรรทุกของเข้าไปแจกจ่ายภายในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ที่บางส่วน มีชาวบ้านอาศัยอยู่อย่างแออัดเป็นจำนวนมาก
       
นายเมฆินทร์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากจะดำเนินการในการย้ำเตือนเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อโควิด-19 ตามเป้าหมาย 'สองพี่น้องต้องปลอดภัย' แล้วยังเป็นการลงพื้นที่เพื่อพบปะกับ ด.ช.เติมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้พิการทางสมองและทุพพลภาพ เนื่องจาก นายนันท์ เอี่ยมสอาด และ ส.ท. เทศบาลเมืองสองพี่น้อง ถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของ ด.ช.เติมศักดิ์ และครอบครัว ท่ามกลางสถานการณ์ การระบาดของไวรัสโควิด ทั้งนี้ หลังจากที่ตนได้พบกับ ด.ช.เติมศักดิ์ แล้ว ปรากฏว่า ตัวของน้องมีท่าทีที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และดีใจที่มีคนมาเยี่ยมน้อง ซึ่งการมอบวีลแชร์ในครั้งนี้ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ ด.ช.เติมศักดิ์และครอบครัว ในการใช้ชีวิตและแบ่งเบาภาระในสถานการณ์การระบาดของไวรัสฯ ในขณะนี้ด้วย
          
"ผมเห็นความยากลำบากของเด็กพิการ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจาก สภาพร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติตามสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นจะต้องมีผู้ดูแลตลอดแล้ว การเข้าถึงสิทธิ์ต่างๆ ที่จำเป็นก็ยังไม่ครอบคลุมถึงเด็กพิการด้วย ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ผมจึงอยากเสนอให้ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่นอกจาก เปิดสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง ในการบริการสถานที่รองรับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่เดือดร้อนขาดผู้ดูแล และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ให้ช่วยเหลือดูแลเด็กพิการทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ และตามบ้านที่อยู่อาศัยด้วย ทั้งนี้ อาจจะมีการประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการลงมาช่วยเหลือน้องๆ เหล่านี้อย่างจริงจัง เพราะหากบุคคลในครอบครัวของน้องๆ เด็กพิการเหล่านี้ ได้รับเชื้อแล้ว จะมีความเสี่ยงสูงมากในการรับเชื้อ และผู้ดูแลก็จะไม่สามารถดูแลได้ตามปกติด้วย ซึ่งส่งผลเสียต่อเด็กพิการอย่างร้ายแรงด้วย" นายเมฆินทร์กล่าว

...