ความสำเร็จของทุเรียนไทย ที่ปีนี้ดีทั้งผลผลผลิตและราคาที่เพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงรายได้ของเกษตรกรชาวสวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ "ทุเรียน" เป็นที่สนใจ ทั้งในแง่พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศ

รวมทั้ง "การเพาะปลูก" ทำสวนทุเรียน เป็นอาชีพ

อย่างไรก็ดี แม้ปลายทางจะหอมหวาน แต่การเป็นเจ้าของสวนทุเรียนนั้น ไม่ง่ายเลย มีอุปสรรคมากมายให้ฟันฝ่า ดิน น้ำ ฝนฟ้า พายุ เชื้อรา ฯลฯ

ที่หมู่บ้านคลองลอย หมู่ 8 ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน แหล่งปลูกทุเรียนขึ้นชื่ออีกแห่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ปัจจุบัน มีสวนทุเรียนกระจายอยู่ในหมู่บ้านกว่า 300 สวน เนื้อที่เพาะปลูกทุเรียนกว่า 900 ไร่ มีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดปีละกว่า 2,000 ตัน สร้างรายได้ให้กับชาวสวนทุเรียนในพื้นที่จำนวนมาก

ที่นี่ หลายคนได้มาปักหลัก สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างสวนจนประสบความสำเร็จขณะที่หลายคนรับสืบทอดทำสวนต่อจากบรรพบุรุษ

การเดินทางของชาวไร่สับปะรด สู่สวนทุเรียน...

ธนัช สุขเกษมเปรมปรีย์ อายุ 41 ปี อีกหนึ่งคนหนุ่มที่มุมานะ จนประสบผลสำเร็จ เปิดเผยว่า เดิมตนไม่ใช่คนในพื้นที่บ้านคลองลอย แต่พื้นเพมาจาก อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำไร่สับปะรดอยู่ที่นั่น ก่อนจะย้ายรกรากมาอยู่ที่นี่ เมื่อปี พ.ศ. 2531

ธนัช สุขเกษมเปรมปรีย์ จากชาวไร่สับปะรด สู่เจ้าของสวนทุเรียนคลองลอย
ธนัช สุขเกษมเปรมปรีย์ จากชาวไร่สับปะรด สู่เจ้าของสวนทุเรียนคลองลอย

...

"เมื่อมาถึงเห็นคนที่นี่ทำสวนยางพารา และทำสวนทุเรียน ก็เลยเริ่มลงมือทดลองทำ ลองผิดลองถูกเรื่อยมาจนเข้าที่เข้าทาง จึงหันมาทำสวนทุเรียนเต็มรูปแบบ โดยเริ่มจากการปลูกกาแฟ แล้วแซมด้วยทุเรียน เมื่อต้นทุเรียนเริ่มได้ผลผลิตก็โค่นต้นกาแฟออกไป เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชที่ไม่สามารถปลูกร่วมกับพืชอื่นได้ และปัญหาที่สำคัญในการปลูกทุเรียนที่มักพบเจอ คือในเรื่องของโรคพืช จำพวกเชื้อราที่จะส่งผลต่อทุเรียน"

จะขายได้ ขายดี ต้องมีเอกลักษณ์

เกษตรกรหนุ่มกล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าจุดแข็ง ที่ทำให้เกิดสวนทุเรียนในพื้นที่คลองลอยเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากทุเรียนหมอนทองคลองลอย มีชื่อเสียงในเรื่องรสชาติที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน สาเหตุจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ และลักษณะอากาศที่เอื้ออำนวย

"ทั้งจังหวัด มันมีเฉพาะที่หมู่บ้านนี้หมู่บ้านเดียวที่ให้ผลผลิตได้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งในสวนมีเนื้อที่ราวๆ 15 ไร่ ถ้าผลผลิตออกได้ 100% ก็ได้เกือบ 30 ตัน ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ เพราะต้นทุเรียนไม่ชอบอากาศที่แปรปรวน เช่น อากาศร้อนจัดสลับกับฝนตก จะส่งผลต่อต้นทุเรียนเป็นอย่างมาก"

สิ่งจำเป็นขาดไม่ได้ ปลูกทุเรียน ต้องมี "น้ำ"

ขณะที่อีกหนึ่งหนุ่ม เจ้าของสวนทุเรียนคลองลอย นายวัฒนพงค์ คงสังข์ อายุ 31 ปี เล่าให้ฟังว่า ได้รับสืบทอดสวนทุเรียนนี้มาจากรุ่นปู่รุ่นย่า ที่ตกทอดมากว่า 40 ปี ในพื้นที่ 12 ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตปีละประมาณ 15 ตัน ในช่วงปีสองปีนี้ ผลผลิตไม่ค่อยดี เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน เดิมเคยประสบปัญหาในเรื่องน้ำในช่วงหน้าแล้ง และสวนทุเรียนในพื้นที่ตรงนี้ได้ขยายเพิ่มมากขึ้น ทำให้น้ำไม่พอใช้

วัฒนพงค์ คงสังข์ หนุ่มวัย 31 ปี สืบทอดการทำสวนทุเรียนจากปู่และพ่อ
วัฒนพงค์ คงสังข์ หนุ่มวัย 31 ปี สืบทอดการทำสวนทุเรียนจากปู่และพ่อ

ดังนั้น ในส่วนของระบบน้ำ โครงสร้างต่างๆ ในสวน ได้มีการวางระบบน้ำใหม่ โดยขุดบ่อน้ำขึ้นใช้เองภายในสวน แทนที่ใช้น้ำจากคลองธรรมชาติเพียงอย่างเดียว จะได้ไม่มีปัญหาในช่วงหน้าแล้ง และยังมีปัญหาเรื่องเชื้อรา ที่หากไม่ดูแลจะส่งผลเสียให้ทุเรียนยืนต้นตาย

ดูแล “ดิน” ไม่ดี เชื้อราลามขึ้นต้น

ในส่วนของดิน หากดูแลโครงสร้างดินไม่ดี จะมีการสะสมของเชื้อราไว้ เมื่อฝนตกหนักเชื้อราเหล่านี้จะขึ้นต้น ถ้ารักษาไม่หาย ต้นทุเรียนต้นนั้นก็ตาย ต้องโค่นทิ้งปลูกใหม่ใช้เวลาอีก 5-6 ปีกว่าจะได้ผลผลิต

"อีกส่วนหนึ่ง ที่ชาวสวนทุเรียนต้องแบกรับก็คือ ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การขุดสระ การวางระบบน้ำ ค่าดูแลรักษาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องลงทุน หากปีไหนราคาทุเรียนตกต่ำ ชาวสวนทุเรียนก็เสี่ยงที่จะขาดทุน"

สวนใหญ่ ได้ผลผลิตปีละ 150 ตัน

ขณะที่ นายชัยยัญญ บัวกระสินธุ์ อายุ 46 ปี เจ้าของสวน คลองลอยซิตี้ สวนทุเรียนรุ่นบุกเบิก และใหญ่อันดับต้นๆ ของคลองลอย เปิดเผยว่า ทำสวนมาตั้งแต่อายุ 15 ทำมาจนปัจจุบัน 31 ปีแล้ว เริ่มจากการปลูกพืชหน้าดิน ปลูกกาแฟ และนำทุเรียนมาปลูกแซมไว้ในสวน จนต้นทุเรียนโต ก็นำพืชชนิดอื่นออก

ชัยยัญญ บัวกระสินธุ์ เจ้าของสวนทุเรียนคลองลอยซิตี้
ชัยยัญญ บัวกระสินธุ์ เจ้าของสวนทุเรียนคลองลอยซิตี้

...

แนวคิดการนำทุเรียนมาปลูก เกิดขึ้นจากรุ่นของพ่อ ที่ได้มีโอกาสกินทุเรียนจากที่อื่น แล้วเห็นว่าอร่อย จึงคิดว่าน่าจะนำทุเรียนมาปลูกที่บ้านคลองลอยดูบ้าง ซึ่งถือเป็นรุ่นบุกเบิกของทุเรียนคลองลอย จนปัจจุบันที่บ้านมีสวนทุเรียนประมาณ 100 ไร่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย ปีละประมาณ 150 ตัน

สำหรับผลผลิตในสวน มีทั้งส่งออกไปประเทศจีน และอีกส่วนส่งขายภายในประเทศ โดยทุเรียนที่ส่งออกจะคัดไซส์ ลูกละ 2-6 กก. ถ้าลูกเล็กกว่านั้น หรือใหญ่กว่านั้นจะส่งขายภายในประเทศ แต่คุณภาพและรสชาติของเนื้อทุเรียน ไม่ต่างกับที่ส่งออก ทางสวนมุ่งเน้นขายทุเรียนที่มีคุณภาพ รสชาติมาตรฐาน เน้นตัดทุเรียนที่แก่จัด ไม่ย้อมแมวขายทุเรียนอ่อน เพราะการขายคุณภาพของทุเรียน ถือเป็นการซื้อลูกค้าไปด้วยในตัว

แต่ปัญหาก็ใช่ว่าจะไม่มี..

"ปัญหาในการทำสวนทุเรียนทุกวันนี้ หลักๆ เลยก็คือ เรื่องศัตรูพืช โรคพืชต่างๆ ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ที่เราอยู่กับสวนทุเรียนมากว่า 30 ปี ในการแก้ไขปัญหา และปัญหาเรื่องน้ำที่ในสวนจะแก้ปัญหาโดยการเจาะบาดาล เพราะในปัจจุบันในพื้นที่หากอาศัยน้ำจากธรรมชาติจะไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกกันเยอะ กว่า 300 สวน เฉลี่ยสวนละ 20-30 ไร่ ผลผลิตในพื้นที่บ้านคลองลอยแต่ละปีกว่า 2,000 ตัน น้ำธรรมชาติจึงไม่เพียงพอ ก็ต้องอาศัยน้ำใต้ดิน"

...

อย่างไรก็ตาม สวนทุเรียนคลองลอยรายอื่น ตอนนี้ส่วนใหญ่ จะไม่สามารถทำเรื่องขอขุดบ่อบาดาลไว้ใช้เองได้ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องที่ดิน ที่มีเอกสารสิทธิมีเพียงประมาณ 10% ที่เหลือเป็นที่ ภบท.5 ทำให้มีปัญหา หากจะขุดบ่อบาดาล จะไม่สามารถขอเอกสารที่ถูกกฎหมายได้

นายชัยยัญญ ชาวสวนรุ่นใหญ่ กล่าวทิ้งท้ายว่า สวนทุเรียนในปัจจุบัน นอกจาก "ทำทุเรียน" ตามฤดูกาลแล้ว ยังต้องทำทุเรียนนอกฤดูด้วย เพื่อจะได้มีผลผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน

จุดแข็งของสวนที่สำคัญยิ่งตอนนี้คือ มีการแบ่งพื้นที่สวนบางส่วน ให้เป็นทุเรียนนอกฤดูกาล ซึ่งจะได้ราคาสูงกว่าปกติประมาณ 60% ที่สำคัญ ทำให้มีทุเรียน ป้อนเข้าสู่ตลาดเกือบทั้งปี...

#ทุเรียนสร้างชาติ : ถ่ายภาพเล่าเรื่อง โดย อรรถชัย นิธิสีลตานันท์