สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 ราชบุรี ดันแปลงใหญ่มะพร้าว สมุทรสงคราม แปรรูปเพิ่มมูลค่าครบวงจร
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.64 นางธัญธิตา บุญญมณีกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 ราชบุรี กล่าวว่า แปลงใหญ่มะพร้าว ต.เหมืองใหม่ ที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านคลองวัว ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ก่อตั้งเมื่อปี 2559 สมาชิก 51 คน พื้นที่รวม 288 ไร่ ชนิดสินค้าหลักของกลุ่มคือ มะพร้าวผล มีนายฝน ทรัพย์สมบูรณ์ เป็นประธานแปลงใหญ่ และนางณภัทร จาตุรัส เป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ ปัจจุบันได้รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจรตำบลเหมืองใหม่
ก่อนการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ดังกล่าว เดิมเกษตรกร ต.เหมืองใหม่ มีอาชีพปลูกมะพร้าวผลแก่ขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ต่อมา นางณภัทร จาตุรัส ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ได้นำความรู้จากการอบรมเรื่องการจัดทำแผนชุมชนมาใช้ในการดำเนินงาน เพราะเชื่อว่าแผนชุมชนทำให้ชุมชนมีเข็มทิศชี้ว่าเราจะเดินไปทางไหน ต้องมีฐานจากข้อมูลชุมชน กลุ่มจึงดำเนินการเก็บข้อมูลแต่ละครัวเรือนเป็นประจำทุกปี ทำให้มีข้อมูลต้นทุนและรายได้จากการประกอบอาชีพขายมะพร้าวผล และพบว่าการปลูกมะพร้าวของเกษตรกรในปัจจุบันหากจะทำการขายผลแก่ให้กับพ่อค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว ชาวบ้านจะมีรายได้ไม่เพียงพอ จึงได้รวมตัวเกษตรกรในหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในชื่อกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าว ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ดำเนินงานในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ฟื้นฟูมะพร้าวครบวงจรตำบลเหมืองใหม่
...
การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของกลุ่มนี้ มีเป้าหมายในการพัฒนา 5 ด้าน คือ ด้านการลดต้นทุนการผลิต ด้านการเพิ่มผลผลิต โดยการคัดพันธุ์มะพร้าวสายพันธุ์ดี และเพาะพันธุ์เอง การลอกเลนส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพส่งเสริมสมาชิกในการเลี้ยงชันโรง เพื่อส่งเสริมการติดดอกของมะพร้าว การป้องกันกำจัดโรค แมลง ศัตรูพืช เช่น ด้วงแรด แมลงดำหนาม โดยชีววิธี ด้านการพัฒนาคุณภาพ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าตามมาตรฐาน GAP ส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตเป็นน้ำมันมะพร้าวสกัดร้อนผสมอะโวคาโด ด้านการบริหารจัดการ โดยมีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน จัดทำแผนชุมชนและดำเนินงานตามแผนส่งเสริมและพัฒนา Young Smart Farmer และ Smart Farmer ส่งเสริมการปลูกพืชผสมผสาน แซมในร่องสวน เช่น อะโวคาโด มะม่วง กล้วย มะนาว ส้มโอ สมุนไพรต่างๆ ส่งเสริมการทำท่องเที่ยวเชิงเกษตรภายในชุมชน และด้านการเชื่อมโยงการตลาด
โดยเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการตลาดทั้งในท้องถิ่นและต่างจังหวัด และช่องทางการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มแปลงใหญ่แล้ว ทุกชิ้นส่วนของมะพร้าวยังสามารถแปรรูปจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างครบวงจรอีกด้วย.