ดร.รัฐวิทย์ ทองนวรัตน์ ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร (ศธจ.)กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการปิดเรียนในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร 3-4 เดือน ส่งผลต่อเด็กในพื้นที่อย่างมาก โดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาสเข้าไม่ถึงการศึกษาออนไลน์ ทำให้เสียเปรียบเด็กในพื้นที่อื่นเป็นอย่างมาก ส่วนเด็กอาชีวะที่ไม่สามารถสอบภาคปฏิบัติหรือไปฝึกงานตามหลักสูตรได้ ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอต่อ จ.สมุทรสาครเพื่อเสนอต่อ ศบค.ให้มีมาตรการโซนนิ่ง พิจารณาว่าพื้นที่ไหนไม่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดก็ให้เปิดโรงเรียนได้ เช่น ไม่พบสถิติการติดเชื้อ ก็ให้เปิดทำการเรียนการสอนได้ เมื่อเปิดแล้วก็จะมีมาตรการดูแลนักเรียนที่เข้มงวด มีการสวอปหาเชื้อครูผู้สอน จะได้มั่นใจว่าไม่มีครูติดเชื้อมาแพร่สู่เด็ก รวมทั้งคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ปกครองที่ทำงานอยู่ในโรงงานที่มีความเสี่ยงก็จะให้เด็กเรียนออนไลน์ หรือเรียนผ่านใบงานอยู่ที่บ้าน

ดร.รัฐวิทย์ กล่าวต่อว่า เมื่อเปิดเรียนได้แล้วก็จะมีมาตรการเสริมอื่นๆ เพื่อช่วยให้เด็กใน จ.สมุทรสาคร เรียนตามเด็กในพื้นที่อื่นได้ทัน เช่น การเติมภูมิรู้ให้ครูทั้งเทคนิคการสอนเสริม สอนลัด ไปจนถึงเสริมด้วยสื่อการเรียนการสอน เพราะเด็กกลุ่มนี้หยุดเรียนมานานต้องมีวิธีช่วยเหลือเพิ่มเติม โดย กสศ.จะช่วยสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนให้เด็กเรียนให้ทันโรงเรียนอื่น รวมทั้งในระยะต่อไปจะมีมาตรการช่วยเหลือครอบครัวที่ผู้ปกครองถูกเลิกจ้างงานและมีเด็กหลุดจากระบบ โดยได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤติทางการศึกษาของ จ.สมุทรสาคร

ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ทางออกของปัญหาที่ จ.สมุทรสาคร คือวิธีการจัดการศึกษาในลักษณะการจัดการเชิงพื้นที่แบ่งเป็นโซนสี พื้นที่ไหนพอจะคลายล็อกได้ก็ให้ดำเนินการเปิดโรงเรียนเร็วที่สุด.

...