ฮือฮาแหล่งน้ำบาดาลแห่งใหม่ “ห้วยกระเจา” จ.กาญจนบุรี เจาะลึกลงไปกว่า 300 เมตร เจอตาน้ำพวยพุ่งรสหวานซ่าคล้ายโซดา ผสมเครื่องดื่มได้ทันที อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ชี้มีเหลือเฟือไม่มีวันหมด เตรียมทำระบบกระจายน้ำ แจกจ่าย 11 หมู่บ้านแก้ภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผอ.สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้สำรวจแหล่งน้ำบาดาลแร่ในพื้นที่บ้านทุ่งคูณ หมู่ 12 ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี พบแหล่งน้ำพุธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษซึ่งไม่เคยพบที่ใดมาก่อนในประเทศไทย คือ มีรสซ่า คล้ายน้ำโซดา และมีรสชาติออกหวานนิดๆ สามารถนำไปผสมเครื่องดื่มแทนน้ำโซดาได้เลย

ผอ.สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล กล่าวว่า พื้นที่ที่พบแหล่งน้ำแร่โซดานี้ พบบริเวณที่เป็นรอยแตกของชั้นหินแปร ที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นดิน 303 เมตร เมื่อเจาะลงไปถึง พบน้ำดังกล่าวพุ่งขึ้นมาเองทันที โดยพุ่งขึ้นมาในปริมาณมากกว่า 50 ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง

...

สำหรับ คุณสมบัติของน้ำ ตรวจสอบเบื้องต้น โดยห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ตรวจสอบน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่ จ.สุพรรณบุรี พบว่า มีค่า พีเอช หรือค่าความเป็นกรดด่างอยู่ที่ 6.75 คุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำธรรมดามาก ไม่เจอสารพิษใดๆ ปนเปื้อน นอกจากนี้ยังพบปริมาณ ไบคาบอเนตสูง คุณสมบัติดังกล่าวนี้ นิตยสารเมดิคอลเฮลท์ บอกว่า เป็นผลดีกับผู้ป่วยเบาหวาน หากดื่มในปริมาณที่พอเหมาะสม

"เราพบน้ำแร่โซดา ที่มีลักษณะเดียวกันนี้ 2 บ่อ ในบริเวณที่ใกล้กัน สาเหตุที่น้ำมีลักษณะ และรสชาติดังกล่าว เป็นเพราะบริเวณที่เก็บกักนั้น น่าจะมีหลายองค์ประกอบ เช่น หินอัคนี หรือหินร้อน ที่เป็นตัวทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น คือ มีอุณหภูมิอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ยังมีหินปูน ซึ่งเมื่อหินปูนโดนความร้อนก็จะคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสะสมในน้ำ เมื่อไปเจาะ น้ำจึงพุขึ้นมาได้เอง รวมทั้งมีรสซ่า อมหวาน เหมือนน้ำโซดาที่บรรจุขวดขาย สามารถนำไปผสมกับเครื่องดื่ม ดื่มได้ทันที ชาวบ้านในพื้นที่ข้างเคียงเมื่อทราบว่า เราเจาะน้ำบาดาลมีรสชาติคล้ายโซดา ต่างพากันสนใจ มาทดลองชิมกันจำนวนมาก" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะจัดการกับแหล่งน้ำบาดาลโซดาตรงนี้อย่างไร นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า เวลานี้ เจ้าหน้าที่จะเฝ้าสังเกตดูอัตราการไหลพุขึ้นมาของน้ำก่อนว่ามีลักษณะการไหลเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม การพุ หรือไม่พุ ขึ้นมานั้นไม่มีความสำคัญ เพราะในที่สุดแล้ว สามารถเจาะลงไปสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ หลังจากนี้ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะทำระบบการกระจายน้ำ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ได้นำไปอุปโภคบริโภค และใช้สำหรับการเกษตร เพราะตรวจสอบแล้วพบว่าปริมาณน้ำมีมากพอสำหรับการแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงใช้ในช่วงฤดูแล้ง

เมื่อถามว่า น้ำที่มีรสซ่าและหวานสามารถใช้ในการเกษตรได้หรือ นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า สามารถใช้ได้ เพราะอย่างที่บอกไปตอนแรกคือ ค่าความเป็นกรดด่างอยู่ที่ 6.75 ซึ่งใกล้เคียงกับน้ำดื่มปกติมาก ทั้งนี้ ในเรื่องของความซ่าจะเหมือนกับโซดาบรรจุขวดทั่วไปคือ เมื่อพุออกมาจากแหล่งใหม่ๆ ความซ่าจะมีอยู่ แล้วจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

ด้านนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติแบะสิ่งแวดล้อม (ทส.) และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. สั่งการตนลงพื้นที่อ.ห้วยกระเจา ซึ่งถือเป็นพื้นที่แห้งแล้งอย่างมาก มีชื่อติดอยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งทุกปี โดยเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำบาดาลส่งทีมสำรวจไปขุดเจาะน้ำบาดาลในพื้นที่ มีเรื่องที่น่ายินดีมาก ที่พบแหล่งน้ำบาดาลไม่น้อยกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำสะอาด และมีรสชาติค่อนข้างพิเศษเหมือนที่เจ้าหน้าที่แจ้งให้ทราบก่อนหน้านี้ โดยปริมาณน้ำที่พบนั้น สามารถแจกจ่ายให้ชาวบ้านพื้นที่รอบๆ จำนวน 11 หมู่บ้าน และพื้นที่เกษตรอีก 3 พันไร่ ได้ใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ ซึ่งพูดได้เลยว่า อ.ห้วยกระเจาจะไม่แห้งแล้งอีกต่อไป

...

โดยผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำพุโซดา จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แคลเซียม 120 mg/l แมกนีเซียม 130 mg/lโปแตสเซียม 9 mg/l โซเดียม 76 mg/l ไบคาร์บอเนต (โซดา) 1,540 mg/l และคลอไรด์ 4 mg/l