"เฉลิมชัย" ปล่อยคาราวานเครื่องจักร-เครื่องมือ บรรเทาปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/64 ด้านปลัดเกษตรฯ รับลูกเตรียมความพร้อมมาตรการสู้ภัยแล้ง เริ่มจ้างแรงงานสร้างรายได้ แจกเมล็ดพันธุ์ช่วยเหลือเกษตรกร


เมื่อวันที่ 4 ก.พ.64 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีปล่อยคาราวานเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2563/64 ณ สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ว่า จากสถานการณ์ในปี 2562 ที่ผ่านมา ปริมาณฝนสะสมรวมทั้งประเทศ 1,333 มิลลิเมตร (มม.) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 225.5 มม. หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ต่อเนื่องมาจนถึง ปี 2563 มีปริมาณฝนสะสมรวมทั้งประเทศ 1,527.3 มม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 60.4 มม. คิดเป็นร้อยละ 4 ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศหลายแห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ปริมาณน้ำใช้การรวมกัน ณ วันที่ 1 พ.ย.63 (ต้นฤดูแล้ง) มีอยู่ประมาณ 23,833 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

ปัจจุบัน (3 ก.พ.) คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 20,433 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 39 ของน้ำใช้การทั้งหมด เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การรวมกัน ณ วันที่ 1 พ.ย.63 (ต้นฤดูแล้ง) ประมาณ 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 32 ของน้ำใช้การทั้งหมด

...

"ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 4,263 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 23 ของน้ำใช้การทั้งหมด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ไว้จำนวน 17,122 ล้าน ลบ.ม. สำรองไว้ต้นฤดูฝน 8,735 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,041 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของแผนจัดสรรน้ำ ซึ่งกรมชลประทานจะควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" นายเฉลิมชัยกล่าว

สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 4.26 ล้านไร่ (แผน 1.90 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ไม่มีแผนการเพาะปลูก แต่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 2.63 ล้านไร่ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ ปัจจุบันในหลายพื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ และเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เน้นจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอ ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้แก่ ประชาชนรวมทั้งเกษตรกรได้รับทราบอย่างทั่วถึง รวมทั้งเร่งกำจัดวัชพืชในแม่น้ำ และคลองสาขาที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ

"กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้ทั้งสิ้น 5,935 หน่วย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบไปด้วยเครื่องสูบน้ำ 2,140 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 503 คัน เครื่องจักรสนับสนุนอื่น 3,292 หน่วย เพื่อให้การช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยแล้งปี 2563/64 ได้อย่างทันท่วงที และลดความเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง ได้มอบหมายกรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 สามารถจ้างแรงงานได้ 94,000 คน งบประมาณทั้งสิ้น 5,662.34 ล้านบาท" รมว.เกษตรฯ กล่าว

ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 ซึ่งมีการประเมินความเสี่ยง และนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาในการจัดทำแผนฯ พร้อมทั้งติดตาม เฝ้าระวัง ประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา สถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน และประเมินสถานการณ์ โดยแจ้งเตือนภัยส่วนราชการในสังกัดและส่วนราชการในพื้นที่ให้เฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา

...

สำหรับแผนป้องกันและเผชิญเหตุภัยแล้ง ได้บูรณาการแผนงาน/โครงการทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกสังกัด ที่สอดคล้องกับมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2563/64 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ตามมติ ครม. 3 พ.ย.63 ประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้ 1.การป้องกันและลดผลกระทบ โดยเน้นการสร้างการรับรู้เพื่อลดความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทาง ให้คำแนะนำทางวิชาการ ลงพื้นที่และออกหน่วยให้บริการเกษตรกร ติดตามสถานการณ์น้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน เฝ้าระวังพื้นที่น้ำเค็มรุกสวน

2.การเตรียมความพร้อม/การเผชิญเหตุ โดยจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ (รถสูบน้ำ 55 คัน เครื่องสูบน้ำ 2,138 เครื่อง รถขุด 522 คัน เรือขุดวัชพืช 150 ลำ รถแทรกเตอร์ 442 คัน รถยนต์บรรทุกน้ำ 503 คัน) มีการสำรองปัจจัยการผลิต (เสบียงสัตว์ 5,567 ตัน ถุงยังชีพสัตว์ 3,000 ชุด เมล็ดพันธุ์พืชผัก 31,080 ซอง เมล็ดพันธุ์ข้าว 1,810 ตัน ศัตรูธรรมชาติ/จุลินทรีย์ ครอบคลุมพื้นที่ 4.11 ล้านไร่) และการบริหารสถานการณ์ในพื้นที่ และการเผชิญเหตุเฉพาะหน้าต่างๆ

3.การฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม โดยการช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และการประเมินมูลค่าความเสียหายในภาคการเกษตรจากภัยพิบัติ